ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

ทักษะและเส้นทางอาชีพของเยาวชนในศตวรรษที่ 21

อาชีพในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้มีคำจำกัดความที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายเหมือนอาชีพที่เรารู้จักมานาน เช่น หมอ ทหาร ตำรวจ พยาบาล ครู ฯลฯ แต่อาชีพในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อน หลากหลาย และต้องอาศัยทักษะที่ต่างกันไป ยังมีอาชีพอีกมากมายที่เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังไม่รู้จัก ซึ่งการแนะแนวให้เยาวชนรู้จักอาชีพที่หลากหลายและทักษะต่างๆ ที่จำเป็นเหล่านี้ ย่อมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ออกแบบและวางแผนเส้นทางชีวิตของพวกเขาเองได้ในอนาคต

       ทีมงานพัฒนาวิชาการ ของโรงเรียนภัทรญาณวิทยา จังหวัดนครปฐม ซึ่งก่อตั้งโดยผู้อำนวยการโรงเรียน และประกอบด้วยครูรุ่นใหม่ รวมถึงครูดิว (สุคนธา นิลหยก) และครูมิ้น (สุพัตรา ฤทธิ์คง) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7 ของทีชฟอร์ไทยแลนด์ เล็งเห็นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว และต้องการสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเปิดโลกกว้างให้เด็กๆ ได้รู้จักอาชีพต่างๆ จึงร่วมกันจัดกิจกรรมแนะแนวที่ส่งเสริมให้เด็กได้ร่วมพัฒนาทักษะ ใช้ความคิด และลงมือทำขึ้น

        อุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ถือเป็นสิ่งที่เด็กยุคใหม่กำลังให้ความสนใจเพราะเด็กเกือบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือและชอบเล่นเกมอยู่แล้ว อาชีพในวงการอีสปอร์ตสร้างรายได้และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจจำนวนมาก ครูดิวจึงนำแนวคิดนี้ไปสานต่อความร่วมมือผ่านทีชฟอร์ไทยแลนด์ ซึ่งได้แนะนำให้รู้จักกับคุณนุ่น (ชุติมณฑน์ ประถมด้วง) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจกรรมเพื่อสังคมและการพัฒนาสังคม บริษัทการีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจให้บริการเกมออนไลน์ที่ทำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

        ทีมงานพัฒนาวิชาการของโรงเรียน และ บริษัทการีนา ร่วมมือกันออกแบบกิจกรรมแนะแนวอาชีพที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม ครูดิวกล่าวว่า “เราไม่อยากให้เด็กมานั่งฟังวิทยากรพูดเฉยๆ เด็กควรได้รับประสบการณ์ และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวกับอาชีพอีสปอร์ตซึ่งพวกเขาสามารถนำไปต่อยอดหรือค้นหาตนเองต่อไปได้ในอนาคต คุณนุ่น จากการีนา จึงประสานงานให้ทีมงานฝ่ายการตลาดและฝ่ายการผลิตสื่อเข้ามาวางแผนร่วมกัน”

       ครูดิวเล่าถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมว่า “เราวางแผนกัน 2 เดือนล่วงหน้า และร่วมมือกันออกแบบกิจกรรมอย่างเข้มข้น ในการสร้างธีมกิจกรรมให้นักเรียนได้สวมหมวกเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการผลิตสื่อ และนำเสนอแผนงานของตนเอง ซึ่งเด็กๆ จะต้องเลือกฝ่ายในวันลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมว่าอยากอยู่ฝ่ายไหน”

       บริษัทการีนาเป็นผู้ให้บริการเกม ROV จึงมีการตั้งโจทย์ว่า ถ้าจะโปรโมตการขายสกินตัวละครในเกมสำหรับการแข่งขัน Winter Tournament ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ก่อนการแข่ง และมีงบประมาณให้ 300,000 บาท นักเรียนที่อยู่ทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หรือ ทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายการผลิตสื่อจะวางแผนอย่างไร

       “ตอนแรก เด็กจะยังงงๆ เพราะไม่เคยทำกิจกรรมที่พวกเขาต้องคิดเองโดยไม่มีประสบการณ์มาก่อน ครูและเจ้าหน้าที่การีนาก็คอยช่วยนำทาง โดยมีการกำหนดรูปแบบไว้ให้เด็กๆ คิดต่อว่า จะจัดกิจกรรมอะไร มีวิธีการดำเนินงานอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่ และผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร”

       “บางทีมก็ทำออกมาได้น่าสนใจ เช่น โปรโมตผ่าน Virtual Reality ให้ผู้เข้าร่วมสามารถถ่ายรูปคู่กับนักกีฬาหรือตัวละครแล้วลงรูปพร้อมใส่แฮชแทก มีหลายทีมทำให้เราประหลาดใจกับความคิดของเขา ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเรานำทางเขาให้เข้าใจว่าต้องทำอะไร เขาก็มีไอเดียดีๆ มานำเสนอ” ครูดิวเล่าถึงตัวกิจกรรม ซึ่งหลังจากนักเรียนนำเสนอผลงาน ทีมงานการีนาก็จะให้ความเห็นและให้ความรู้ถึงกระบวนการทำงานจริงๆ ว่าต้องทำอะไรก่อน และมีขั้นตอนอย่างไร

       หลังจากจบกิจกรรม เด็กนักเรียนมีเสียงตอบรับว่า กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ และทำให้ได้รู้จักอาชีพในวงการนี้มากขึ้น จากเดิมที่รู้จักแต่ผู้เล่นอีสปอร์ต ตอนนี้ก็รู้จักอาชีพต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังในวงการมากมาย ได้เรียนรู้ว่าต้องมีทักษะอะไรในการทำงาน และรู้จักกระบวนการทำงานผ่านการได้ลองทำจริง และการแนะแนวจากผู้มีประสบการณ์จริง

       นักเรียนคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมเพิ่งรู้จักอาชีพ Sound Engineer และไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีอาชีพแบบนี้ ที่ผ่านมาผมสนใจด้านดนตรีอยู่แล้ว รู้สึกดีใจที่งานอดิเรกที่ชอบอาจใช้เป็นลู่ทางในการประกอบอาชีพได้”

       ส่วนทางเจ้าหน้าที่ของการีนาให้ความเห็นว่า การร่วมกิจกรรมครั้งนี้สนุกมากและเป็นการจุดประกายความคิดใหม่ๆ เพราะที่ผ่านมา บริษัทมีการจัดแนะแนวอาชีพอยู่แล้ว แต่เป็นการบรรยายให้ความรู้เฉยๆ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการทำงานร่วมกับโรงเรียนเพื่อออกแบบกิจกรรมว่า จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้รับประโยชน์เต็มที่ และได้ลงมือฝึกปฏิบัติจริง ทำให้พวกเขาเข้าใจรูปแบบการทำงานของแต่ละอาชีพมากขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเพื่อก้าวสู่โลกในศตวรรษที่ 21

       ครูดิวเล่าว่า “การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ ให้พวกเขามองเห็นความสำคัญของตนเอง และความเป็นไปได้ในการออกแบบอนาคต เพราะขนาดบริษัทการีนาที่เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงขนาดใหญ่ก็สามารถจัดกิจกรรมให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดนครปฐมได้”

เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ‘ความรู้ในห้องเรียนปัจจุบันเพียงพอต่อการเสริมสร้างทักษะและเส้นทางอาชีพในศตวรรษที่ 21 หรือยัง?’

       ครูดิวตอบว่า “ทักษะที่เด็กในยุคนี้ควรมีเพื่อตอบโจทย์แรงงานโลกหลักๆ คือ การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การแก้ไขปัญหา (Problem Solving) และ ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) นอกจากนี้ยังมีทักษะเฉพาะอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสายงานอาชีพต่างๆ เช่น ทักษะการพูดในที่สาธารณะ ทักษะด้านการออกแบบหรือการใช้ความคิดสร้างสรรค์

       จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ครูดิวได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ผ่านการทำงานเป็นกลุ่ม การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หรือการทำโครงการระยะยาว ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันยังเน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบ passive learning ที่นักเรียนเป็นผู้รับความรู้โดยไม่ได้สังเคราะห์ขึ้นเอง เนื่องจากการเรียนในห้องเรียนมีตัวชี้วัดด้านวิชาการซึ่งมีการวัดการประเมินผลที่ชัดเจน แต่ทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องมีถือเป็น soft skills หรือทักษะความสามารถซึ่งมีความเป็นนามธรรม จับต้องหรือชี้วัดได้ยาก และต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาที่ยาวนาน”

       ครูดิวให้ความเห็นว่า ครูผู้สอนอาจจะต้องรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าจะเสริมสร้างและบูรณาการทักษะเหล่านี้เข้ากับการเรียนรู้ทางวิชาการในห้องเรียนได้อย่างไร ต้องช่วยกันคิดว่าจะใช้เครื่องมือและวิธีชี้วัดอย่างไรเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ เช่น ในปัจจุบันครูดิวและครูมิ้นเองก็ได้ร่วมมือกันเสริมสร้างทักษะความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แฝงไปกับการเรียนในห้องเรียน และฝึกทักษะการพูดในที่สาธารณะในชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย