การเติบโตของผู้นำการเปลี่ยนแปลง สู่ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนของทุกคน

“แค่เด็กคนหนึ่งตาเป็นประกายในขณะที่เราสอนก็เพียงพอแล้ว” การถอดบทเรียนจากความพยายามบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง”

“จากครูสอนพิเศษสู่บทบาท ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

     เนื้อแพร พรหมหิตร (นุ่มนิ่ม) จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ ภาคเคมี จุฬาลงกรณ​์มหาวิทยาลัย นอกเหนือจากการเป็นหัวหน้าภาควิชาแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่นุ่มนิ่มใช้เวลาและความทุ่มเทในการลงมือทำก็คือการสอนพิเศษ ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่นุ่มนิ่มสอน นุ่มนิ่มรู้สึกมีแรงบันดาลใจและพลังในการทำให้นักเรียนของเขาทุกคนไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

     เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของพวกเขาเหล่านั้น และเราเองได้มีโอกาสไปทำค่ายอาสา ทำให้เราเห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่ายังมีเด็กไทยอีกมากที่ยังไม่เข้าถึงการศึกษา เราเลยอยากเป็นคนหนึ่งที่ลงมือ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็ก ๆ กลุ่มนี้บ้าง

“แค่เด็กคนหนึ่งตาเป็นประกายในขณะที่เราสอนก็เพียงพอแล้ว”
การถอดบทเรียนจากความพยายามบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง

     การสอนในห้องเรียนมันแตกต่างจากภาพการสอนพิเศษที่เราผ่านมามาก เพราะการสอนพิเศษตัวต่อตัวนั้น นักเรียนที่มาเรียนกับเราคือกลุ่มนักเรียนที่อยากเข้ามาศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติม แต่ในระบบการศึกษาจริง เรากลับพบว่า มีเด็กอีกจำนวนนึงที่อาจจะยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งนำไปสู่ปัญหามากมาย ทั้งประเด็นการขาดเรียน 0 ร มส  หรือแม้กระทั่งความสนใจในห้องเรียน ช่วงแรกเรารู้สึกเหนื่อยและท้อมากเพราะเราเต็มที่กับการสอน เตรียมกิจกรรม เตรียมเกมส์มาอย่างเต็มที่ แต่เรากลับไม่ได้การตอบรับเท่าที่เราคาดหวังไว้ เหมือนพวกเขาไม่เห็นถึงความตั้งใจของเรา สุดท้ายเราเลยต้องถอยกลับมาทำความเข้าใจพวกเขา และปรับความคิดตัวเอง ซึ่งเราได้ตกตะกอนหลังจากพูดคุยกับครูในโรงเรียน ว่าทุกอย่างมันอาจต้องอาศัยเวลา จุดเริ่มต้นเกิดจากความคิดที่ว่า ‘แค่เด็กคนหนึ่งมีตาเป็นประกายในขณะที่เราสอนก็เพียงพอแล้ว’ เราก็พยายามต่อไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายนักเรียนหลายคนในห้องก็ทยอยยอมรับและชอบในวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น

“ทักษะที่พัฒนาจากบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

     ปกติเราเป็นคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง เราชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะวางตัวและรับมือกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน หรือ แม้แต่นักเรียนแต่ละคนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุก ๆ วัน มากไปกว่านั้น การที่เราสอนอยู่หน้าห้องต่อหน้านักเรียนหลักสิบ เราก็เปรียบเสมือน ‘ผู้นำ’ ที่เราจะต้องบริหารทรัพยากรหรือภาพรวมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเหล่านั้น รวมถึงเรายังต้องพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำผ่านการวางตัวให้เหมาะสม ใช้คำพูดให้เหมาะสม รวมถึงต้องชะลอการตัดสินใจ การทำงานตรงนี้ทำให้เรารู้เลยว่าทุกคนล้วนมีเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นของตัวเอง 

“ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนของทุกคน”

     หนึ่งในปัญหาที่เราเจอช่วงแรกของการเข้าไปสอน คือนักเรียนค่อนข้างติดโทรศัพท์ ใช้โทรศัพท์ในขณะเรียน ซึ่งเรามองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในคาบเรียนของเรา เราจึงสร้างวัฒนธรรมห้องเรียนผ่านการให้นักเรียนวางโทรศัพท์ใส่ตะกร้าหน้าห้องและสื่อสารถึงจุดประสงค์ของการทำสิ่งนั้น ในช่วงแรกนักเรียนหลายคนก็มีท่าทีไม่พอใจหรือขัดขืนอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านมา เขาเริ่มให้ความสนใจกับการเรียนมากขึ้น เขาเริ่มเข้าใจเนื้อหา เริ่มสามารถทำโจทย์ในห้องเรียนได้ จนเป็นผลลัพธ์ว่าพวกเขามีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้ ในช่วงหลัง ๆ เด็ก ๆ จึงเข้าใจและไม่ได้มีท่าทีขัดขืนในการเก็บโทรศัพท์อีกต่อไป เรามองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เขาเห็นผลลัพธ์ที่ตัวเองได้ทำและเริ่มปรับพฤติกรรม เราหวังว่าในอนาคตเขาจะเห็นความสำคัญและเปลี่ยนพฤติกรรมกับทุก ๆ วิชา

 

     เรามองว่าการเรียนในสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตจริงจะสามารถทำให้พวกเขาเปิดใจ ทำให้พวกเขาสนใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ได้ในบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องการกรองน้ำ เราจึงออกแบบกิจกรรม ‘เครื่องกรองน้ำหรรษา’ โดยเราให้โจทย์ว่า ให้นักเรียนจับกลุ่มในการหาวัสดุเพื่อมาประกอบสร้างเครื่องกรองน้ำ เพื่อทำให้น้ำที่อยู่ในบริเวณโรงเรียนสะอาดให้ได้มากที่สุด ในกิจกรรมนี้ เราได้เห็นความมุ่งมั่นพยายามของนักเรียนทุก ๆ คนที่ช่วยเหลือกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเรารู้สึกภูมิใจในตัวพวกเขามาก ๆ ที่ช่วยเหลือกันและทำมันจนสำเร็จ เราสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า นักเรียนเหล่านี้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง มากไปกว่านั้นในการสอบ เราพบว่านักเรียนจำนวนมากสามารถทำข้อสอบที่พูดเกี่ยวกับการกรองน้ำได้อย่างถูกต้อง และมีนักเรียนหลายคนได้เข้ามาบอกว่าเขามีมุมมองและทัศนคติที่ดีกับวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพราะการสอนของเรา ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีมาก ๆ

“บริบทจริงในโรงเรียน สู่ภาพฝันการศึกษาไทยในอนาคต”

     การเข้ามาสอนในโรงเรียนทำให้เราเห็นศักยภาพที่นอกเหนือจากด้านวิชาการในตัวนักเรียนหลาย ๆ คน เราเห็นถึง Passion และ ความตั้งใจของพวกเขามาก ๆ ยิ่งในช่วงแข่งขันศิลปหัตกรรม เราเลยมองว่านอกเหนือจากด้านวิชาการที่จำเป็นแล้วนั้น การส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ หรือมี Passion ก็นับเป็นสิ่งสำคัญ เราเลยอยากให้หลักสูตรหรือโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้กับนักเรียน ภาพหลังจบโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง นุ่มนิ่มเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันในภาครัฐที่ส่งเสริมนโยบายพัฒนาอาชีพจากสิ่งที่พวกเขาถนัด เพื่อที่สักวันหนึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้จะสามารถทำสิ่งที่ชอบและใฝ่ฝันไปได้ควบคู่การได้เรียนรู้อย่างเต็มที่

 

“โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง เหมาะกับใคร?”

     การเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุก ๆ ภาคส่วน ถ้าหากคุณเป็นคนที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการศึกษา เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งคุณสามารถเป็นหนึ่งในนั้นได้ รวมถึงถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากเข้ามาทำงานในการศึกษาไทย แต่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ โครงการนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้คุณเช่นกัน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org