เป็นได้มากกว่า เพื่ออนาคตประเทศที่ดีกว่า

ปัญหาการศึกษาไทยมีความซับซ้อนมาก และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แก้ปัญหาได้สำเร็จ คือคนจากในทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญ เข้าใจปัญหา และมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหานี้ ไม่เพียงเท่านั้น อีกส่วนที่สำคัญยิ่งกว่า คือความเชื่อร่วมกันว่า เราทุกคนมีศักยภาพ และเด็กนักเรียนทุกคนมีศักยภาพที่จะเคลื่อนอนาคตของตนเองไปข้างหน้า หากได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

     “เราเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนเป็นได้มากกว่านั้น”

     เสียงจากผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ตะ – วิชิตพล ผลโภค สะท้อนให้เห็นการเดินทางที่ประกอบขึ้นเป็นเส้นทางอันยาวนานนับสิบปี ตั้งแต่วันแรกที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ก่อตั้งขึ้นจนถึงวันนี้ “ความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้” ยังคงอยู่ในดีเอ็นเอของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์อย่างเข้มข้น

     ประเทศไทยมีเด็กมากมายที่มีศักยภาพ แต่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน เด็กส่วนใหญ่มีคะแนนการเรียนรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน อันเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกันทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ สภาพแวดล้อมในการเรียน ไปจนถึงนโยบายทางการศึกษา

     ทั้งที่จริงๆ ในตัวเด็กๆ ทุกคน พวกเขาพัฒนาได้ และมีศักยภาพในการเติบโตไร้ขีดจำกัด

     “เป็นได้มากกว่านี้” – แม้กระทั่งตะเอง ก็สร้างองค์กรนี้ขึ้นมาจากความเชื่อนี้เช่นกัน

     “ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสทางการศึกษาดี ได้ไปเรียนที่ประเทศอเมริกา และพอใกล้จบ อาจารย์ก็ถามเพื่อนในห้องว่าอยากทำอะไร” ตะเล่าถึงความหลังราวๆ 15 ปีก่อน “เพื่อนส่วนมากบอกว่าอยากไปทำงานกับ ทีช ฟอร์ อเมริกา”

     “แต่ผมสมัครไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นคนอเมริกัน”

     สำหรับใครหลายคน เพียงแค่คำตอบนั้นอาจปิดประตูโอกาสไปแล้ว แต่ตะกลับเห็นว่ามันเป็นประตูบานใหม่ที่จะทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่เชื่อ

     ปี 2009 คือปีที่ตะมีความคิดริเริ่มอยากก่อตั้ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เขาต้องใช้เวลาอีก 4 ปี ต่อมา เพื่อทำให้เครื่องบินลำนี้ออกจากรันเวย์ได้ ในที่สุดทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ก็เปิดตัวเป็นครั้งแรก ในปี 2013 

     แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายของ ทีช ฟอร์ ออล (Teach For All) แต่การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างอิสระ คนในมูลนิธิฯ ลงมือคิด หาทุน และบริหารทุกอย่างเองทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

     จนถึงตอนนี้ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ผลิตคนมากมายที่สร้างอิทธิพลต่อวงการการศึกษา  ทั้งหมดเริ่มขึ้นจากการที่ตะถูกปฏิเสธครั้งนั้น และดีเอ็นเอขององค์กรที่ “เชื่อมั่นในความเป็นไปได้”  เราเชื่อมั่นในคน และการให้เครื่องมือกับคน เพื่อให้เขาสามารถแก้ปัญหาอันซับซ้อนในบริบทของการศึกษาไทยได้ 

     โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นโครงการหลักของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เน้นการส่งคนที่มีศักยภาพจากทุกพื้นฐานอาชีพและเศรษฐกิจ ไปทำงานเป็นครู 2 ปีในพื้นที่ที่ขาดแคลนครูและมีความต้องการสูง เพื่อให้พวกเขาสอนและเรียนรู้ปัญหาทางการศึกษาที่นักเรียน ครู และชุมชน ได้พบเจอ เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และสามารถนำประสบการณ์ต่างๆไปช่วยแก้ปัญหาการศึกษาให้ประเทศ จากทั้งในและนอกระบบ ด้วยความเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้

     “ถ้าพูดง่ายๆ เราสร้างผู้นำให้สังคมผ่านการเป็นครู และศิษย์เก่าของเราเมื่อจบไป ก็นำความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในปัญหาการศึกษาไปใช้ขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ ในสังคมต่อ”

     “ศิษย์เก่าของเราส่วนใหญ่ กว่า 50% ยังทำงานในภาคการศึกษาต่อ หลังจบจากโครงการฯ 2 ปี”

     ถ้าเปรียบเส้นทางของครูผู้นำเป็นการปีนเขาลูกหนึ่ง มันคงไม่ใช่เขาลูกเตี้ยๆ แต่เป็นยอดเขาสูงที่นักผจญภัยต้องเตรียมตัวอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน ก่อนจะปีนขึ้นไป ระหว่างทางเต็มไปด้วยอุปสรรคที่พร้อมจะทำให้ทุกคนถอดใจ อยากทิ้งตัวลงนั่ง หรือไต่กลับลงไปอยู่เสมอ ประสบการณ์นั้นก็เป็นจริงเช่นกันสำหรับการก่อตั้ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่มีความท้าทายมากมาย

     “ช่วงแรกๆ ของการก่อตั้ง เรียกได้ว่าไปคุยกับ 50 คน จะโดนปฏิเสธมา 40 คน” หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งเล่า

     “แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงยืนหยัดในเป้าหมายของเราต่อ”

     ภาพของทีมผู้ก่อตั้งที่บุกป่าฝ่าดงไปยังพื้นที่ที่ไม่รู้จัก สะท้อนไปยังภาพของครูผู้นำฯในโครงการฯ ที่หาทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี

     “เราเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษาปัญหาจริงๆ แล้วจะได้เรียนรู้ว่าปัญหาการศึกษามันเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องโครงสร้าง หรือสภาพแวดล้อม  และโรงเรียนก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนปัญหาในสังคม” ตะเล่าถึงรูปแบบการทำงาน

     “พอได้มาดูปัญหาจริงๆ แล้ว จะรู้ว่า เฮ้ย ปัญหาพวกนี้มันมีทางแก้  หลังจากได้รู้แบบนี้แล้ว ก็นำความรู้ไปทำงานเชิงโครงสร้างต่อไป”

     ปัญหาการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นเรื่องที่แก้ไม่ง่าย แต่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เชื่อมั่นในการลงทุนกับคนและการสร้างเครือข่ายผู้นำที่มีศักยภาพ และเข้าใจปัญหา

     “การศึกษาเป็นการลงทุนที่ใช้ระยะเวลา สมมุติเราลงทุนบางอย่างไป มันอาจใช้เวลาถึง 12 ปี ซึ่งก็คือช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง กว่ามันจะออกดอกออกผล” ตะเสริม “มันไม่สามารถลงทุนแล้วได้ผลภายในสองเดือน หรือจับต้องได้ทันที เหมือนกับการบังคับใช้นโยบายบางอย่าง”

     “คนของเราที่ได้เข้าไปดูหน้างานจริง แม้จะยังแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ แต่เขาก็กลายเป็นผู้นำที่เข้าใจปัญหาจริงๆ”

     ตะยังได้เสริมด้วยว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นเหมือนตัวเชื่อมที่ทำให้คนเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง พอเข้าใจปัญหา ก็สามารถเชื่อมกลยุทธ์เข้ากับการลงมือทำ ทำให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทั้งกลยุทธ์และการลงมือทำจะต้องไปด้วยกัน

     การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่สะท้อนออกมาผ่านการฝึกครูผู้นำฯ และบทเรียนที่ครูผู้นำฯ ได้สอนในห้องเรียน

     “โจทย์คือเราจะทำยังไงให้สร้างนักเรียนที่เกิดความอยากเรียนรู้ และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ อยากพัฒนาตนเองได้ตลอด”

     สำหรับทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ การเดินทางครั้งนี้เป็นเกมระยะยาว ซึ่งต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทุกประสบการณ์ ทุกอุปสรรคที่ได้เจอ เป็นเหมือนการเรียนรู้ที่ทำให้ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง และพร้อมจะเป็นได้มากกว่า เพื่อเติมเต็มการศึกษา สานต่ออนาคต ให้อนาคตประเทศไทยดีกว่าเดิม