เติมเต็มโรงเรียนและชุมชน ด้วยพันธกิจสานต่อผลกระทบในวงกว้าง

“ครูเฟรนด์ได้ช่วยให้นักเรียนมีความกล้าเข้าหาครู ล่วงรู้ปัญหาที่แท้จริงของเด็ก และยังติดอาวุธทางปัญญาที่ติดตัวครูมา ทำให้โรงเรียนวังเหนือมีทรัพยากรมากขึ้น”

เสียงจากผู้อำนวยการเธวิญ เย็นใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปาง เล่าให้ฟังถึงครูเฟรนด์ ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 8 ที่นอกเหนือจะได้เข้าไปสอนวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้เปิดห้องให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ให้นักเรียนได้เข้าหาครูเพิ่มอีกช่องทาง

“ครูจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีความเก่ง และเป็นสมัยใหม่ เน้นพัฒนาทักษะ การมีส่วนร่วม และจุดประกายความคิดให้เด็กๆ ได้มาก”

เฟรนด์ ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ

     “หลังจากที่เด็กๆ ได้มาคุยกับผู้บริหาร พบว่ามีพัฒนาการดีขึ้น กล้าพูดคุยกับครูมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการเปิดเวทีให้ซักถามปัญหาส่วนตัว และปัญหาเรื่องต่างๆ”

     การทำงานกับโรงเรียนและชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการสานภารกิจของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเติมเต็มการศึกษาในระดับที่ใหญ่กว่าตัวนักเรียน สำหรับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ความเป็นผู้นำคือการเลือกในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนตนเองและผู้เกี่ยวข้องไปข้างหน้า ครูผู้นำจะใช้ความเป็นผู้นำพัฒนาตนเอง นักเรียนในห้องเรียน ไปจนถึงระดับสานสัมพันธ์ร่วมกับชุมชน 

     “มีช่วงหนึ่งที่ คุณเอ็ม (ธนิต แคล้วโยธา) ผู้จัดการส่วนภูมิภาค ภาคกลาง จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้เข้ามาที่โรงเรียน เพราะมีเคสที่ต้องติดตามเด็กกลับมาเรียน มีความเห็นว่าต้องใช้ครูที่มีจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยกับเด็ก ทีมคุณเอ็ม และครูเฟรนด์ก็เลยไปเจอเด็กที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน พร้อมกับผู้ปกครอง มีการแยกกันคุยกับเด็กว่าทำไมถึงไม่ไปเรียน ปรากฏว่าทีมนี้สามารถล้วงลึกไปถึงคำตอบที่แท้จริงของเด็กได้”

     “นอกจากนั้นในเรื่องการเยี่ยมบ้านนักเรียน ครูจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ก็ได้ลงไปเยี่ยมบ้านพร้อมครูที่ปรึกษาด้วย”

เฟรนด์ ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ และนักเรียนโรงเรียนวังเหนือวิทยา

     ในส่วนของการทำงานกับชุมชน ครูไวท์ สุวิมล วัฒนาภา ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 6 เป็นอีกคนที่ได้ลงมือทำด้านนี้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

     “ในทุกสัปดาห์ จะมีการนัดเจอกับกลุ่มของ ครูสอญอ และ ก่อการครู จังหวัดขอนแก่น ครูในระบบที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อนักเรียนและชุมชนเป็นสำคัญ เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาที่อยากให้เป็นในจังหวัด” ครูไวท์เล่า “มีการเชิญคนจากภาคส่วนอื่น เช่น หอการค้า อดีตนายกเทศบาล สาธารณสุข และได้รับความร่วมมือจาก Thai PBS และศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) ขอนแก่น เข้ามาระดมความคิดเรื่องการศึกษาในจังหวัด”

     “เราคุยกันว่า เรามองเห็นศักยภาพ อัตลักษณ์อะไรในจังหวัดบ้าง การศึกษาในขอนแก่นมีอะไรน่าสนใจและแก้ไขได้บ้าง”

     “นอกจากนั้น สำหรับชุมชน ยังมีการจัดคอร์สร่วมกับก่อการครู ขอนแก่น และ inskru เป็นเวิร์คช็อปให้ครูจากหลายจังหวัดมาร่วม แล้วเอาความรู้ไปใช้ในห้องเรียนตนเอง” 

     พ่อบุญ สุทัศน์ สุวรรณ สมาชิก อบต. หมู่บ้านห้วยโป่ง จังหวัดลำปาง ได้เล่าถึงความประทับใจต่อการทำงานในชุมชนร่วมกับครูผู้นำฯ ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ไวท์ สุวิมล วัฒนาภา จัดกิจกรรมร่วมกับผู้เกี่ยวของทางการศึกษาในชุมชน

     “เรารู้สึกถูกใจกับแนวทางการสอนของครูจากทีชฯ เพราะสอนนักเรียนได้อย่างเต็มที่ และให้เวลากับเด็กเต็มที่” พ่อบุญเล่า “นอกจากนั้นยังมีกระบวนการให้ผู้นำชุมชน ตัวแทนผู้ปกครอง มีส่วนในการเสนอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน หลักสูตร การเรียนการสอน และชุมชนด้วย”

     นอกจากงานใน อบต. แล้ว พ่อบุญยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุมชน ที่ช่วยคัดเลือกครูผู้นำฯ จากในชุมชนอีกด้วย

     “รู้สึกดีที่เขาให้เราเลือกกำหนดว่าจะเลือกครูแบบไหน ก็เลือกจากเจตนา และความฝันของผู้นำในชุมชน ซึ่งมันตรงประเด็นมากเลย”

     พลังจากครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง อาจสามารถส่งผ่านไปถึงระดับโรงเรียนและชุมชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะที่โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี ผู้อำนวยการสาลี่ เชิดชู สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวขึ้นจากการมีครูผู้นำฯ

     “พอเป็นคำว่า ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เราก็คิดว่า ทำไมโรงเรียนต้องคาดหวังให้ครู 2 ท่านมาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนตามลำพัง เราเองก็มีหน้าที่โดยตรง แล้วทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำนำการเปลี่ยนแปลงด้วย” ผอ. สาลี่ให้ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ

ผอ. สาลี่ เชิดชู กับครูผู้นำฯ

     “ครูในโรงเรียนและตัว ผอ. เอง ก็ลุกขึ้นมาเติบโตไปพร้อมกับครูทีช ส่งต่อไปยังนักเรียน ทั้งครู และผู้บริหาร อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนศรีรักษ์ฯ นักเรียนเองก็ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย เป็นบรรยากาศของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน”

     ภารกิจในการเติมเต็มการศึกษา สานต่ออนาคต ของครูผู้นำฯ จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ยังคงดำเนินต่อไป และส่งผลต่อภาพใหญ่ของการศึกษา เริ่มจากเด็ก ขยายสู่โรงเรียน และชุมชน อย่างเข้าถึงและเข้าใจในปัญหา

     ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้เปิดโอกาสให้มีการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Collective Vision) ร่วมกับโรงเรียน และชุมชน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการสร้างวิสัยทัศน์ของชุมชนที่มีอยู่แล้ว โดยเน้นเปิดเวทีระดมความคิดเห็นถึงอนาคตทางการศึกษาที่คนในพื้นที่อยากให้เป็น  ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราได้สร้างวิสัยทัศน์ร่วมไปแล้วถึง 15 ครั้ง ตัวเลขนี้จะยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เราได้สร้างผลกระทบที่มีความหมายในระยะยาวกับชุมชนอย่างแท้จริง อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ร่วมได้ ที่นี่

     นอกจากนั้น เรายังมีการคัดเลือกครูผู้นำฯ โดยชุมชน (Community Selection) เพื่อให้ได้ครูผู้นำที่เข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง ร่วมพัฒนาการศึกษาในชุมชนไปพร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน โดยเราได้ครูผู้นำจากกระบวนการนี้แล้วทั้งสิ้น 20 คน ฟังเสียงจากชุมชนที่มีส่วนร่วมคัดเลือกครูผู้นำฯ ได้ ที่นี่