จุดประกายความเชื่อมั่น เปลี่ยนชีวิตนักเรียนจากความเชื่อ

“ครูวิ่งจะมีคำพูดติดปากว่า You Can Do It (คุณทำได้) จากตอนนั้นที่ผมท้อว่าไม่สามารถช่วยอะไรเพื่อนๆ ในทีมได้ ก็เริ่มมาคิดว่ามีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง”

เสียงสะท้อนจากจ๊อบ นักเรียนคนหนึ่งที่เคยเรียนกับครูวิ่ง ปาณิสรา สุขเสริม ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 3 ทำให้เห็นแง่มุมบางอย่างที่อยู่ในการสอนของครูผู้นำฯ

“ถ้าไม่ได้เจอครูวิ่ง ผมก็คงจะเป็นคนที่ไม่เปิดใจ ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ โหยหาแต่สิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่กล้าออกจาก Safe Zone ของตัวเอง”

วิ่ง ปาณิสรา สุขเสริม

     ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้าไปสอนที่โรงเรียน ครูวิ่งก็มีงานสำคัญให้ต้องรับมือ เพราะนักเรียนกลุ่มหนึ่งมาขอคำปรึกษาจากเธอเรื่องการทำหนังสั้น

     “นักเรียนรู้ว่าเราเคยทำ Production ก็เลยรวมกลุ่ม 4-5 คนมาปรึกษา ว่าจะทำหนังยังไง เหลือเวลาอีกแค่อาทิตย์เดียวจะต้องส่งหนังเข้าประกวดแล้ว”

     “พอเราลงไปถ่ายในพื้นที่จริง ก็มีซีนที่ต้องถ่ายในน้ำ เราเลยเดินลงน้ำไปถ่ายเลย  หลังจากวันนั้น จ๊อบเขาก็เขียนสมุดบันทึกมาให้ บอกว่าครูวิ่งทุ่มเทกับการทำงานมาก”

     ผลการประกวดหนังสั้นครั้งนั้น ปรากฏว่าเด็กๆ ได้ที่สองของจังหวัด ก็เลยดีใจกันใหญ่

     ความมีใจ มีไฟ มีฝัน ของครูผู้นำฯ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่แพร่กระจายได้อย่างมาก และสิ่งนี้สามารถส่งผ่านไปสัมผัสใจของนักเรียน เช่นอีกเรื่องของครูเปา นพดล บุตรสาทร รุ่น 5 ซึ่งช่วยเหลือเรื่องหาทุนและสร้างอาชีพให้กับนักเรียนของเขา

     “ผมยังอึ้งอยู่ว่า จากไม่มีอะไร มีกล้องโรงเรียนอยู่ตัวเดียว ครูเปาก็ไปสอนทำกิจกรรม ทำหนังสือภาพถ่ายขาย ตอนแรกผมลังเลว่ามันจะเวิร์คมั้ย แต่สุดท้ายก็ขายหนังสือได้ ผมภูมิใจมาก” เสียงสะท้อนจากตะวัน นักเรียนคนหนึ่งของครูเปา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของครูผู้นำฯ

     “ทักษะการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่ผมได้นำมาใช้ประกอบอาชีพต่อ ตอนนี้ผมเป็นช่างภาพอยู่ที่กองกิจการพลเรือน กองทัพเรือสัตหีบ  หากไม่ได้เจอครูเปาในวันนั้น ผมคงไม่ได้ทักษะมาต่อยอดอาชีพ”

เปา นพดล บุตรสาทร

     ผู้ปกครองของตะวันเองก็สนิทกับครูเปามาก และเล่าให้ฟังด้วยความปลื้มใจถึงประสบการณ์ที่มีต่อครูผู้นำฯ

     “ครูเปาดูแลนักเรียนดี คอยอยู่เป็นเพื่อนนักเรียน อย่างเช่นวันหยุดตะวันก็ได้ไปคลุกคลีกับครูเปา” คุณอมรา อาของตะวันเล่า

     “พอครูเปาเข้ามา การเรียนของตะวันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มีกิจกรรมอะไรที่ครูให้ไป ตะวันก็ไปร่วมตลอด หายจากความว้าเหว่”

     สำหรับครูไวท์ สุวิมล วัฒนาภา ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 6 การได้คลุกคลีกับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้องเรียน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

     “ตอนที่ไปสอน มีเด็กที่เรียนกับเราแล้วหายไป บ่อยครั้งเขาออกจากบ้าน แต่มาไม่ถึงโรงเรียนหรือห้องเรียน” ครูไวท์เล่า “เราก็เลยไปติดตามกับผู้ปกครอง มีครั้งหนึ่ง ผู้ปกครองอยู่คนละจังหวัด ก็ขี่มอเตอร์ไซค์หลายร้อยกิโลมาเพื่อตามหาเด็ก”

     “หรือบางทีมีจุดอับที่เด็กไปซ่อนอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอ เราก็ไปตามถึงที่นั่น”

     ด้วยการสานความร่วมมือกับเพื่อนของนักเรียน เพื่อนร่วมงาน และผู้ปกครอง ครูไวท์จึงสามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้

     “มีครั้งหนึ่งไวท์ติดสอน แต่ต้องออกไปตามนักเรียน ก็ใช้วิธีนำเด็กทั้งสองห้องมารวมกัน และสอนด้วยกัน แล้วได้ให้เพื่อนร่วมงานเป็นคนไปตาม”

     “บ่อยครั้งต้องประสานงานกับผู้ปกครอง ซึ่งเป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุด หลายครั้งเขาถอดใจกับเด็ก เพราะไม่มีเครื่องมือและไม่รู้จักวิธีพูด หรือบางทีผู้ปกครองก็โกรธ และพูดแรง  เราก็ต้องคอยพูดเกลี้ยกล่อม และแนะนำวิธีการสื่อสารให้กับผู้ปกครอง”

     ครูไวท์ยังเสริมอีกด้วยว่า “เราพยายามบอกว่าครูทีชไม่ได้เป็นแค่คนจัดการเด็ก ยังต้องมีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง ที่ต้องอยู่ด้วยกันไปตลอด เราก็คุยกับผู้ปกครองให้อยู่ด้วยกัน”

     การประสานงานกับผู้ปกครอง เป็นอีกงานที่ครูผู้นำฯ ยึดเป็นภารกิจหลัก เพราะผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น อย่างเช่นเรื่องราวของน้องอัมพร ซึ่งตอนแรกจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะที่บ้านไม่มีทุนทรัพย์

     “ทางบ้านเราไม่มีสตางค์ส่งให้เรียน น้องอัมพรตอนนั้นก็เลยร้องไห้ไปหาครูเปา” แม่ของอัมพรรำลึกความหลัง “หลังจากนั้น ครูเปาก็มาหาที่บ้าน บอกว่า แม่ไม่ต้องห่วงแล้วนะ อัมพรได้ทุนเรียนแล้ว”

     ครูเปาได้ประสานงานเพื่อหาทุนให้อัมพรได้เรียน จนตอนนี้ เธอเข้าเรียนที่สาขาการบัญชี สถาบันเทคโนโลยีบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

ไวท์ สุวิมล วัฒนาภา

     “หนูเจอครูเปาวันแรกยังไม่กล้าไปพูดคุย เพราะเขาบอกว่าครูที่มาจากมูลนิธิฯ ดุมาก  หลังจากเรียนไปได้สักพักก็มีกิจกรรมไดอารีที่โต้ตอบกันกับคุณครู ซึ่งครูเปาได้ให้คำปรึกษา สิ่งที่ครูเปาเขียนมาให้เป็นคำแนะนำส่งต่อไปมา แต่หนูอยากได้คำแนะนำในบางเรื่องที่ลึกลงไป ก็เลยตัดสินใจเข้าไปพบ” อัมพร นักเรียนที่ได้ทุนจากครูเปาเล่า

     “ตอนนั้นหนูสับสนระหว่างการเรียนสายสามัญกับสายอาชีพ ในใจอยากไปสายสุขภาพ แต่ต้องใช้เวลานาน ครูเปาก็ให้คำแนะนำ จนสุดท้ายเลือกสายอาชีพ ได้เรียนสาขาบัญชีตามที่หวัง และแม่ก็สนับสนุน เพราะไม่อยากให้ทำงานตากแดดตากลมอยู่กลางแจ้ง”

     “ถ้าไม่ได้เจอครูเปาวันนั้น หนูคงไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้ ที่ได้เลือกที่เรียนเอง และมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น”

     ภารกิจในการสร้างผลกระทบต่อชีวิตเด็กแต่ละคน อาจจะเป็นแค่จุดเล็กๆในภาพใหญ่ของการเติมเต็มการศึกษา แต่ก็ถือเป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศได้รับการสานต่อความฝัน อาจเป็นดังคำพูดของดิว สุคนธา นิลหยก ครูผู้นำฯ รุ่น 7 ที่บอกว่า

     “การเติมเต็มการศึกษา สานต่ออนาคต ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นเหมือนการถมช่องว่างทางการศึกษา เป็นการรวมแรง และจูงใจคนที่ทำงานการศึกษาให้มีไฟ  พอเราได้เติมเต็มการศึกษา เราก็เห็นเด็กสานฝันของตัวเอง และเด็กๆ เหล่านั้นก็ไปขับเคลื่อนประเทศต่อ”

     ไวท์เสริมว่า “มันอาจเป็นเหมือนการอุดรอยรั่วของระบบการศึกษา ซึ่งการมีรอยรั่วหมายความว่าระบบนี้ไม่สมบูรณ์ การที่เราเติมเต็มมันก็คือการทำให้มันสมบูรณ์ขึ้น  จนวันหนึ่ง เราคิดอยากให้มูลนิธิไม่ต้องมีอยู่อีกต่อไป เพราะการศึกษาในไทยเสมอภาค เท่าเทียมกันแล้ว”