สานเครือข่ายเพื่อเปลี่ยนการศึกษาในภาพใหญ่

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือการที่ศิษย์เก่าที่จบออกไปได้ทำงานขับเคลื่อนการศึกษาไทยต่อในเชิงระบบ ปัจจุบัน ศิษย์เก่าทุกคนมีทักษะและประสบการณ์ที่มีค่าต่อสายงานที่ไปทำงานต่อ ศิษย์เก่าหลายคนกำลังศึกษาต่อ ทำงานในบริษัทเอกชน และกว่าครึ่งหนึ่งทำงานด้านการศึกษาต่อ โดยเฉพาะในภาคนโยบาย นวัตกรรมการศึกษา และเป็นผู้นำในโรงเรียน ทำให้การศึกษาในภาพใหญ่เปลี่ยนไปในเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง

ความสำคัญของการทำงานเชิงระบบ อาจสะท้อนอยู่ในคำพูดของไวท์ สุวิมล วัฒนาภา ซึ่งปัจจุบันศึกษาต่อปริญญาโทด้านนโยบาย การศึกษา และสังคม ที่ King’s College London ประเทศอังกฤษ เธอได้เห็นว่า ในห้องเรียนมีวิธีการจัดการเรียนการสอนหลายแบบ และสามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้ แต่หลายครั้งนโยบายกลับไม่เอื้ออำนวย

“บางครั้งเราอุตส่าห์คิดวิธีการสร้างสรรค์มากมาย แต่นโยบายก็สำคัญเพื่อให้วิธีเหล่านั้นใช้ได้จริง การทำงานเชิงนโยบายจะทำให้สร้างผลกระทบได้มาก ถ้าทำแยกๆ กัน ก็มีโอกาสไปคนละทางกัน”

ไวท์ สุวิมล วัฒนาภา

สกาย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล

ลงแรงกับนโยบายเพื่อ ขยับ ปรับ เคลื่อน ระบบการศึกษา

     ศิษย์เก่าคนหนึ่งที่กำลังทำงานเชิงนโยบายอย่างโดดเด่น คือ สกาย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล  นักวิจัยด้านนโยบายที่สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขาเป็นคนคอยเสนอแนะนโยบายต่างๆ ให้ภาครัฐนำไปขับเคลื่อน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง

     “ความภูมิใจของผมคือ ได้พัฒนาข้อเสนอแนะจากความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ และทำให้เกิดนโยบายลงไปในระดับพื้นที่”

     “อย่างเช่นที่ระยอง มีปัญหาว่า โรงเรียนไม่รู้ผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน เราก็ช่วยเขาพัฒนาเครื่องมือวัดผลขึ้นมา แม้เครื่องมือนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทำให้เกิดแนวทางว่า ขั้นตอนต่อไปควรจะแก้ปัญหาตรงไหน”

     อ้วน ณรงค์ชัย เต็นยะ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานด้านนี้อย่างโดดเด่น เขาทำงานกับพื้นที่นวัตกรรมจังหวัด และโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองในมูลนิธิสยามกัมมาจล ทางมูลนิธิฯ ได้ผลักดัน พ.ร.บ. นวัตกรรมการศึกษา มีเป้าหมายคือทำให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง

     “โรงเรียนที่ร่วมโครงการต้องจัดโครงสร้าง การเรียนการสอน บุคลากรใหม่หมด เป็นการปลดแอกระบบที่ครอบงำการศึกษา”

     “ผมได้ทำงานร่วมกับผู้อำนวยการ ครู ควบคู่กับกลไกวิชาการของจังหวัด สำหรับโรงเรียนที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ ผู้อำนวยการต้องกล้าฉีกโครงสร้างเดิมๆ ทิ้งหมดเลย เช่น ทำให้เหลือแค่ 3 วิชาในหนึ่งวัน วิธีการรายงานเกรดต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปหมดเลย และจากการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning (PBL) เด็กจะเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้มากขึ้น”

     “เราต้องการคนที่คอยอยู่เคียงข้างโรงเรียนที่กำลังปรับ เป็นเพื่อนคู่คิดของโรงเรียน และนั่นคือหน้าที่ของผม”

ดิว - สุคนธา นิลหยก

นวัตกรรมการศึกษา เสริมแรงให้การเรียนรู้เกิดขึ้นจริง

     ในส่วนของนวัตกรรมการศึกษา ดิว สุคนธา นิลหยก เป็นคนหนึ่งที่เคยได้สัมผัสกับเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่เป็นครูผู้นำฯ เธอเป็นคนริเริ่มการใช้แนวคิด Design Thinking แก้ปัญหานักเรียนไม่สามารถเข้าเรียนได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เธอจัดทำ Digital Handbook ให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีการเข้าเรียนออนไลน์ และทำให้ได้รับการสนับสนุนจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้เข้าร่วมงาน EdTech ที่สิงคโปร์

     “ตอนนั้นเราได้ไปสร้างเครือข่ายกับกลุ่ม ทีช ฟอร์ ออล เอเชีย และแลกเปลี่ยนกัน แชร์ไอเดียการเรียนรู้ในยุคโควิด”

     ปัจจุบันดิวกำลังศึกษาด้าน Digital and Social Change อยู่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยได้รับการสนับสนุนจากทุน Chevening และเธอตั้งใจนำความรู้นี้มาสร้างผลกระทบต่อระบบการศึกษาต่อ

     “เราอยากเปลี่ยนอยู่สองอย่าง อย่างแรก คือ ผู้ปกครอง ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเทคโนโลยีทางการศึกษามากขึ้น และอยากเปลี่ยนครูด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยครูสร้างห้องเรียนที่รอบด้านและมีความหมาย หลายครั้งครูมีศักยภาพ แต่ต้องการตัวช่วยสร้างความมั่นใจในห้องเรียน”

ส้ม อมรรัตน์ สีหะปัญญา

ผู้นำในโรงเรียน แก้ปัญหาอย่างตรงจุดที่หน้างาน

     เมื่อพูดถึงครูแล้ว ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จำนวนหนึ่ง ได้ทำอาชีพครูต่อ และเป็นฟันเฟืองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มที่ทำงานที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSED) ในแผนกโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ส้ม อมรรัตน์ สีหะปัญญา, แอน ชายาท​ เกษตรภิบาล  และซัน ธีรภาพ แซ่เชี่ย

     “สำหรับเรา ความเหลื่อมล้ำมันใกล้ตัวมาก อย่างส้มเคยรู้สึกถูกกีดกันจากการเป็นเด็กในอำเภอเล็กๆ ที่ต่างจังหวัด เรามีความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่นๆ ตอนไปเจอเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในเมืองมากกว่า” ส้มเล่า

     แอนเสริมว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษา มันหมายถึงทุกคนมีสิทธิ์ มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะได้เข้าถึงองค์ความรู้ ตามความสนใจที่สามารถเป็นไปได้ และมันเริ่มขึ้นจากความเสมอภาคในห้องเรียน เด็กทุกคนต้องเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ทุกชิ้นงาน ทุกบทเรียน ทุกการสอน เด็กต้องเข้าถึง”

     สำหรับซันแล้ว ความเสมอภาคไม่ใช่การได้ทุกอย่างเท่ากัน

     “คำว่าเสมอภาคไม่จำเป็นต้องได้เท่ากัน ใครที่ขาดมากก็ควรได้มาก เราต้องดูแลคนที่ต้องการมากเป็นพิเศษ ส่วนคนที่มีเยอะอยู่แล้วอาจจะโค้ชอยู่ห่างๆ”

     แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือที่ที่ทำให้ทุกคนมาร่วมสานพันธกิจร่วมกัน ในแบบที่ไม่อาจหาสายสัมพันธ์เช่นนี้จากที่อื่นได้ และได้รับประสบการณ์จริงเกี่ยวกับปัญหาการศึกษา

     “มันเป็นเรื่องยากมากกับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ แม้จะเป็นระบบที่เล็กที่สุดที่เรากำลังอยู่ก็ตาม” ส้มบอก “เราคงต้องดูตัวเองในฐานะคนที่อยู่หน้างาน คงต้องจับสักเรื่องในการเปลี่ยน สุดท้ายต้องมีแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ที่จะเปลี่ยนไปด้วยกัน”

แอน ชายาท​ เกษตรภิบาล

     แอนแบ่งปันเกี่ยวกับภารกิจที่เธออยากจะทำให้สำเร็จ

     “การได้ลองไปเป็นครูก่อน 2 ปี ทำให้เราเห็นว่าเราทำตรงนี้ได้ และเราอินกับความเท่าเทียม ความเสมอภาคจริงๆ เราอยากใช้ศักยภาพของเราขจัดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับครู”

     “สิ่งที่ดีคือ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ไม่ได้จำกัดความถนัดและอายุ เราได้เรียนรู้จากเพื่อนๆ ได้คุยกัน ได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันเหมือนกัน แม้จะมีวิธีการแตกต่างกัน แต่เราทำด้วยกัน และไม่ได้คิดอยู่คนเดียว” ส้มเล่า

     “ถือเป็นการทดลองที่ทำให้เห็นโครงสร้าง นโยบาย การเมือง ภาคธุรกิจ ว่ามันโยงกันอยู่ยังไงกับปัญหาการศึกษาไทย”

     ซันเสริม “สำหรับผม ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นที่รวมคนที่มีไฟแรง อยากผลักดันการศึกษา ทุกคนมีเป้าหมาย มีใจ และมีไฟ และยังมีเครือข่ายภาคีอยู่ทั่วโลก ช่วยให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ๆ”

     แอนปิดท้ายว่า

     “การทำงานในทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นการเลือกงานจากคุณค่าลึกๆ ในใจ แม้มีสิ่งที่ต้องแลกมา เป็น 2 ปีที่นาน แต่พอเรามี Passion และลงแรง เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ในการทำงานต่อไป ทำให้คุณค่าที่เรายึดว่าอยากทำเพื่อคนอื่นชัดเจนขึ้น และเห็นว่าเราเป็นประโยชน์กับคนอื่นมากกว่าที่คิด”

     ปัจจุบัน ศิษย์เก่าจำนวนมากของเรายังสานต่องานการศึกษาผ่านงานภาคนโยบาย นวัตกรรมการศึกษา และผู้นำในระดับโรงเรียน โดยมีแรงสนับสนุนจากเครือข่ายศิษย์เก่า หรือ Alumni Network ที่เพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำงานเปลี่ยนระบบการศึกษาไม่โดดเดี่ยว เต็มไปด้วยการเสริมแรงซึ่งกันและกัน และยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ซัน ธีรภาพ แซ่เชี่ย