“ถ้าเรามองปัญหาเป็นปัญหา มันก็จะยังเป็นปัญหา
แต่ถ้าเรามองปัญหาเป็นความท้าทาย เราจะเรียนรู้จากมัน และเมื่อเรามองย้อนกลับมา เราจะพบว่าเราโตขึ้น”
ประภาสพร แสงชีวิน (แพรนวล) - ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 3
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงาน Educa 2018 ตอน “คุณค่าของครู” ในวันที่ 17-19 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยทีมงานและศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand ได้เข้าร่วมในฐานะวิทยากรเพื่อเล่าถึงประสบการณ์ จากหลากสาขาวิชาชีพ สู่การก้าวเข้ามาทำงานในวงการศึกษาและบทบาทครูผ่านโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราขอหยิบยกบางส่วนของงานมานำเสนอผ่านวีดีโอและไฮไลท์คำพูดของทีมงานและศิษย์เก่าของเรา ---> [video
จริงๆแล้วตั้งแต่เด็กจนโตผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะมาอยู่ในแวดวงการศึกษาเมื่อตอนมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนวิศวกรรมเครื่องกล..จุดเปลี่ยนมันเริ่มหลังจากเราได้เข้าสู่ชีวิตการทำงานแล้วเริ่มถามตัวเองว่าเราทำงานนอกจากการหาอาชีพที่สุจริตที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เราต้องการเติมเต็มตัวเองด้านอะไรอีกไหม … จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้เจอรุ่นน้องที่เราเคยให้คำแนะนำเรื่องการสมัครงานไปแล้วชีวิตเขาเปลี่ยน เราเลยคิดว่างานด้านการให้ความรู้ งานด้านการศึกษานี่แหระ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องรอให้รวยหรือประสบความสำเร็จโด่งดัง เราก็สามารถ ให้คนอื่นได้ ช่วยให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน เราเองก็มีความสุขจากสิ่งที่ทำด้วย เลยหันมาจับงานด้านการศึกษา ---- ดุษฎี เตืออุดมศีล - หัวหน้าสรรหาผู้นำการเปลี่ยนแปลง
มีคนบอกว่าคนเป็นครูต้องทำได้ทุกอย่าง นั่นแหละเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริงๆ จัดบอร์ด เก็บผ้า กวาดพื้น ยันทาสีโรงเรียน ทำมาทุกอย่างแล้ว สำหรับแพรมันคือความท้าทายนะ เราโตขึ้น อะไรที่เคยคิดว่าเราทำไม่ได้ การทำงานตรงนี้มันพิสูจน์ให้เราเห็นแล้ว ว่าเราทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด คนเราเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อยู่เสมอ อีกแง่หนึ่งคือความเป็นครู แพรว่าเราใจเย็นมากขึ้น มีสติมากขึ้น เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น และที่สำคัญคือเรามีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจมากขึ้น
อาชีพครูแพรมองว่าผลลัพธ์มันไม่ได้แปรผันตามความตั้งใจหรือความทุ่มเทของเราเสมอไป เช่น บางครั้งเราเตรียมการสอนมาอย่างดี เตรียมเกมเตรียมกิจกรรมให้เด็กอย่างเต็มที่ เราก็ต้องมาลุ้นอีกว่ามันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เด็กจะซื้อหรือไม่ซื้อ ในทุกๆ วันของการทำงาน เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเราจะต้องเจออะไรบ้าง ช่วงแรกๆ เราได้ลองผิดลองถูก และได้เผชิญหน้ากับความผิดหวังและท้อแท้อยู่บ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้แพรมองว่าเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ปัญหาที่เจอ ถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหา มันก็จะเป็นปัญหา แต่ถ้าเรามองมันเป็นบทเรียน เราจะได้เรียนรู้อะไรจากมันอีกมาก และเราจะผ่านพ้นปัญหานั้นไปได้ และในวันที่เราผ่านมันมาได้ มันทำให้เราเติบโตขึ้นไปอีกขั้น --- ประภาสพร แสงชีวิน (แพรนวล) - ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 3
ตั้งแต่ก่อนเข้ามาได้ยินประโยค "คนที่ไม่รู้จะทำอะไร มาเป็นครู" บ่อยๆ เห็นได้ชัดว่าสังคมไม่ค่อยให้คุณค่า
ต่อไปใครที่พูดแบบนี้ อยากให้ลองเข้ามาเข้ามาเป็นครูสักเทอมนึง การเป็นครูในระบบมันยากมาก เราต้องเก็บรายละเอียดทุกอย่างตลอดเวลา ตั้งแต่กระบวนการเตรียมการสอน เขียนแผน การสอนจริง คุมชั้นเรียน การดูแลเด็กให้มั่นใจว่าทุกคนเข้าใจหรือเปล่า ปรับแผนแบบฉับพลันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วัดผล ประเมิน นี่ยังไม่นับตรวจการบ้าน การดูแลเด็กในด้านอื่นๆ หรืองานเอกสาร การเตรียมงาน รับนโยบายโครงการต่างๆ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าครูทีสอนในระบบราชการจะเจอปัญหานี้อย่างใหญ่หลวง แถมต้องคิดด้วยว่า นักเรียนที่มาจากชุมชนด้อยโอกาส อย่างที่ได้ไปสอน หลายคนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเป็นพิเศษ เพราะบางคนไม่ได้รับการดูแลตัวใจใส่นี้จากบ้าน ครูหลายคนจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองอีกต่างหาก
เป็นครูในระบบได้จึงต้อง strong จริงๆ และคุณครูที่ปุ๊บได้พบเนี่ย เค้าก็ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่มากๆ แต่มันน่าเสียดายที่ “เต็มที่” ของคุณครูในตอนนี้ กลับเป็นการใช้เวลากับอะไรที่มันนอกเหนือจากการสอนหรือการดูแลเด็กไปเยอะมาก จากที่เห็นคือกลายเป็นครูในระบบถูกทำร้ายด้วยระบบ ทั้งๆ ที่เป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดเลยในการศึกษา (เข้าสนามจริง ใช้เวลากับเด็กโดยตรง) เพราะฉะนั้นสารสิ่งนี้ไม่ได้ถึงครู แต่ถึงระบบและสังคม อยากให้ทุกคนช่วยลองกลับไปคิดดูว่า ถ้าเราเห็นคุณค่าของครูจริง เราจะทำยังไงให้เวลาของครูเนี่ย มีคุณค่าด้วย ไม่ใช่หมดไปกับงานที่ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งครูและนักเรียน --- ฐานิตา ภูวนาถนรานุบาล (ปุ๊บ) - ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 3