ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 5

Leadership In Teach
For Network –
สัมภาษณ์ครูใหม่ รุ่น 5

ครุเต๋อ (ปวีณา วัฒนาภา)

By หมิวกัลยรัตน์ อภิวัฒโนดม

ผู้นำที่ดีไม่ควรเป็นคนที่ทำให้ทีมไม่อยากทำงาน
เพราะตัวเอง

เต๋อ ปวีณา วัฒนาภา – หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Career ผัด

วันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับ พี่เต๋อ ปวีณา วัฒนาภา – Alumni รุ่น 5 จากโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ‘Career ผัด’ ซึ่งเป็นเพจที่คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาชีพและทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ แก่นักเรียน ในแง่มุมของ ‘ความเป็นผู้นำ (Leadership)’ จากประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงเวลา 2 ปีของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

พี่เต๋อให้คำนิยามไว้ว่า ผู้นำ คือ คนที่สามารถดึงคนอื่นขึ้นมานำได้ มาดูกันว่า ที่มาที่ไปของคำนิยามนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ และทักษะความเป็นผู้นำที่ได้พัฒนาจากโครงการนั้นถูกนำไปใช้ในชีวิตและการทำงานอย่างไรบ้าง

อยากให้พี่เต๋อเล่าหน่อยว่า ได้ทำอะไรบ้างหลังจากจบโครงการ 2 ปีแล้ว?

ตั้งแต่ช่วงก่อนจบโครงการประมาณครึ่งปี เรากับเพื่อนเฟลโล่วได้เริ่มทำโปรเจกต์ชื่อว่า ‘Career ผัด’ เป็นโปรเจกต์ที่อยากจะทำให้นักเรียนที่อยู่ในชุมชนที่เราสอนสัมผัสกับประสบการณ์อาชีพหรือทักษะ โดยตอนแรกเราทำเป็นเพจเฟซบุ๊ก แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ได้นำโปรเจกต์ไป pitch กับ SYSI ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สสส. แล้วก็เริ่มมีการจัด workshop เกี่ยวกับอาชีพสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

นอกจากนั้นก็ยังได้รับการโหวตเข้าไปในบอร์ดศิษย์เก่า (TFT Alumni Board) ทำหน้าที่เป็นเลขาของบอร์ดศิษย์เก่า ซึ่งตอนนี้กำลังจะมีโปรเจกต์ พี่ก็รับหน้าที่เป็นเลขาของโปรเจกต์นี้ด้วย

ฟังดูแล้ว หลังจากจบโครงการก็ไม่ได้หมายความว่าจะจากกันไปเลยนะ (หัวเราะ)

ใช่ ๆ (หัวเราะ) เพราะหลังจบการเป็นเฟลโล่ว เราก็จะเข้าสู่บทบาทของการเป็นศิษย์เก่าหรือ Alumni ต่อ แล้วก็อยากจะบอกด้วยว่า ตอนนี้เราสมัครไปเรียนปริญญาโทด้าน Management ที่ประเทศอังกฤษด้วย

อยากถามว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้พี่ไปเรียนต่อด้านนี้?

มันเริ่มจากเราสนใจด้าน Human Development แต่เรามองว่า การที่จะไปพัฒนาใคร โดยเฉพาะการทำงานในองค์กรหรือบริษัท ถ้าเราไม่มีความรู้ด้าน Management หรือ System ไม่ว่าจะเรื่อง Business หรือ Marketing ก็ดี มันจะทำให้เราเป็นนักพัฒนาที่มีแต่ทฤษฎี แต่ทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เช่น เราคิดได้แค่ว่าพนักงานควรจะเป็นอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าบริษัทต้องการอะไร เป็นต้น เราเลยคิดว่า อยากจะเริ่มต้นที่ Management ไปก่อน แล้วเรามีทักษะกับเครื่องมือด้าน Human Resource Development อยู่แล้วประมาณหนึ่ง ก็ค่อยจับมารวมกันหลังจากเรียนจบก็ได้

นิยามคำว่า ‘ความเป็นผู้นำ’ ของพี่เต๋อคืออะไร?

ถ้าจะให้นิยาม เราคิดว่ามันเป็นความสามารถที่จะผลักดันคนอื่นให้มานำได้ แน่นอนว่าคนที่เป็นผู้นำต้องผลักดันโปรเจกต์ แต่ว่าในโลกยุคนี้ ผู้นำจะมองตัวเองเป็นคนที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารไม่ได้แล้ว ผู้นำที่ดีคือคนที่ควรรู้ว่า เขาอยู่จุดสูงสุดเพื่อที่เขาจะดึงคนอื่นมาอยู่ในจุดนี้ด้วยกันได้ แล้วช่วยกันผลักดันโปรเจกต์ให้สำเร็จไปด้วยกันได้ ดังนั้นแล้วสำหรับเรา

‘ผู้นำคือคนที่ดึงคนอื่นขึ้นมานำได้’

คิดว่าผู้นำแบบนี้จะต้องมีทักษะอะไรในการดึงคนอื่นขึ้นมา เป็นผู้นำได้?

เราคิดว่า ข้อแรกคือทักษะการ Facilitate ทั้งในด้านการทำงาน การเรียนรู้ หรือการทำงานของทีม ไม่ใช่คนที่คอยสั่งการอย่างเดียว ข้อที่สองคือการ Communicate และสุดท้ายคือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) นอกจากนี้ก็คงเป็นเรื่องทักษะการจัดการ และความรับผิดชอบซึ่งก็ต้องมีอยู่แล้ว

ประสบการณ์การเป็นเฟลโล่ว 2 ปี ช่วยพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำเหล่านี้อย่างไรบ้าง?

สิ่งที่เราตกตะกอนได้ ต้องให้เครดิตประสบการณ์ 2 ปีนี้นะ เพราะสมัยเราอยู่มัธยมหรือมหาวิทยาลัย เรามักจะได้เป็นหัวหน้ากลุ่มที่ทำงานคนเดียวตลอด ซึ่งมันไม่ดีเลย ทีนี้พอมาทำงานในบริบทจริง เราก็มี moment แบบนั้นนะ

แต่ในช่วง 2 ปี ทำให้เราเรียนรู้อย่างแรกเลยคือ เราทำงานเองคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว อย่างที่สองคือ ถ้าเราลองเปิดใจมองรอบๆ ตัว คนอื่นๆ เขามีความสามารถในการทำงานตั้งเยอะ แต่เป็นเราเองต่างหากที่อีโก้สูง ไม่ยอมให้คนอื่นมามีส่วนร่วม นำมาสู่อย่างที่สามที่ได้เรียนรู้ก็คือ ประสบการณ์ 2 ปี ทำให้เรามองเห็นว่า จริงๆ แล้วทักษะความเป็นผู้นำที่บอกไป มันคือทักษะการพาคนอื่นขึ้นมานำเหมือนกัน

เหมือนกับการมองเห็นศักยภาพของคนอื่น แล้วก็ดึงศักยภาพของคนๆ นั้นออกมาใช้?

ใช่ๆ

นอกจากการพาคนอื่นขึ้นมาเป็นผู้นำกับเราแล้ว มีทักษะไหนที่เราได้พัฒนาในช่วง 2 ปีอีกบ้าง?

การเปิดใจ และ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ด้วยความที่เราเป็นคนที่ขับคลื่อนด้วยการให้เหตุผล ถ้าเราไม่เห็นเหตุผลที่จะให้อภัยคนๆ หนึ่ง เราก็จะไม่ให้อภัยคนๆ นั้น แต่ว่า ประสบการณ์ 2 ปีเนี่ย มันทำให้เรามีอีกหลายเหตุผลและแง่มุม ที่จะให้อภัย แล้วก็เปิดใจรับฟังคนๆ หนึ่งเพิ่มขึ้นเยอะมาก 

พอจะแชร์ตัวอย่างประสบการณ์ให้ฟังได้ไหม?

อย่างเช่น ตอนเราเป็นครู มีนักเรียนคนหนึ่งที่ผลการเรียนเขาแย่มาก ถ้าเป็นเราที่ใช้มาตรฐานตอนอยู่มัธยมก็คงทิ้งเด็กคนนี้ไปแล้ว แต่การที่เราสังเกตตัวเองว่า ต่อให้เราจะโกรธเขาแค่ไหน หรือจะบอกว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วนะที่เราจะเตือน สุดท้ายพอเรากลับมามองที่ตัวเองก็พบว่า สาเหตุที่เราอยากดันเด็กคนนี้ไปจนสุด มี 2 เหตุผล

ข้อแรกคือ ความดื้อของเราเอง เพราะตอนนั้นครูทั้งโรงเรียนเขาไม่เอาเด็กคนนี้แล้ว ทำให้เรารู้สึกว่า ฉันคือสมออันสุดท้ายที่จะสามารถดึงเด็กคนนี้ไว้ในระบบการศึกษาได้ อาจจะฟังดูหลงตัวเองนะ แต่ตอนนั้นคือดื้อแบบนั้นจริงๆ 

เหตุผลอีกข้อคือ เราถามตัวเองว่า ถ้าเด็กคนนี้ชีวิตพัง เราจะโทษตัวเองไหม? แล้วเราก็ได้คำตอบว่า เราคงโทษแหละ เพราะมีหลายครั้งที่เราคิดว่า เราทำได้ดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นต่อให้เด็กคนนี้จะไปติด 0 เพิ่มมา ต่อให้เราหันไปแล้วเห็นเขาเล่นเกมส์ เราก็จะพยายามเตือน พยายามบอก พูดซ้ำๆ ทุกวัน จนเด็กคนนี้เรียนจบ และได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย

ฟังดูเหมือนมีเรื่องของ Sense of Possibility ด้วยไหมว่า ยังไงทั้งตัวฉันและเด็กคนนี้ก็จะต้องสำเร็จได้?

จะว่าแบบนั้นก็ได้นะ ถ้า Sense of Possibility มันเหมือนกับความดื้อด้วย (หัวเราะ)

ได้นำทักษะความเป็นผู้นำที่พัฒนาผ่านการเป็นเฟลโล่ว 2 ปี ไปใช้ต่อยอดในชีวิตและงานที่ทำอย่างไรบ้าง?

โห เยอะเลย ถ้าในเรื่องของการทำงาน ตอนนี้เราเป็นเลขาก็จะทำงาน admin บ่อย อย่างหนึ่งที่ต้องทำตลอดคือเป็นคนกลางคอยประสานงาน สื่อสารข้อมูล เราได้นำทักษะความเป็นผู้นำมาใช้อย่างแรก คือ ช่วยให้เราดึงศักยภาพของเพื่อนร่วมงานเราออกมาได้ด้วยว่า เราไว้ใจให้เขาทำงานนี้ อย่างที่สองคือ หยุดตัวเองไม่ให้ดึงงานทุกอย่างมาทำเองคนเดียว 

ส่วนในเรื่องของความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือคนรอบข้าง เราก็ได้มองว่าวัตถุประสงค์หลักของเรา ไม่ใช่การที่เราถูก แต่เป็นการที่ทุกคนโอเค ดังนั้น ทุกบทสนทนาหรือทุกการกระทำก็จะมีเหตุผลมาตอบว่า เรากำลังทำมันไปเพื่ออะไร

แบบนี้เราสามารถสรุปได้ไหมว่า การเป็นผู้นำที่ดีในนิยามของ พี่เต๋อ ช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นทั้งในการทำงานและชีวิตได้ง่ายขึ้น?

ใช่ แล้วก็ทำให้มุมมองที่มีต่อคนอื่นเป็นในมุมของ Growth Mindset ด้วยนะ คือเห็นว่าคนอื่น ๆ ก็สามารถเติบโตและพัฒนาขึ้นได้

สุดท้ายแล้ว พี่คิดว่า ‘หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี’ คืออะไร?

คือการถ่อมตัว ไม่เอาอีโก้ตัวเองมาบังตา

ผู้นำที่ดีไม่ควรเป็นคนที่ทำให้ทีมไม่อยากทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรทำให้ทีม ไม่อยากทำงานเพราะตัวเอง

จริง ๆ ในช่วง 2 ปีก็จะมีบาง moment ที่อีโก้เราสูงเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืองานไม่เดินเพราะเรา ต่อให้จริงๆ แล้วเราคิดตามเหตุผลแล้วเราถูก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มันไม่มีใครเห็นแบบนั้น ดังนั้น คำถามคือความถูกต้องตรงนั้นมันถูกจริงๆ หรือเราดื้อให้มันถูก? แล้วการที่เราเป็นฝ่ายถูก มันมีประโยชน์ต่อทีมมั้ย? ก็เลยเป็นการตกตะกอนได้ว่า หัวใจสำคัญจริงๆ คือการถ่อมตัว ลดอีโก้ ลดกำแพงบางอย่างในใจลงมาเพื่อให้งานเดินได้

บางอย่างเราอาจจะไม่จำเป็นต้องยืนยันว่า
ความคิดของตัวเองถูกต้อง ต้องลดอีโก้ลงบ้าง
เพื่อให้คนอื่นสบายใจที่จะทำงานร่วมกันกับเรา
และทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้