Parents’ Voice: ครอบครัว ครูผู้นำ บันดาลใจ

ก่อนจะเข้าไปเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้สมัครหลายคนต้องสื่อสารให้ครอบครัวรู้เป็นอันดับแรก ว่ามีความตั้งใจจะเข้าไปคลุกกับปัญหาการศึกษาไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี และเนื่องจากการลงพื้นที่ของครูผู้นำฯ ไม่ใช่งานสบายนัก ผลตอบรับที่ได้จึงมีทั้งในเชิงสนับสนุนและไม่สนับสนุน

     การสื่อสารให้ครอบครัวเข้าใจเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดการทำงานของครูผู้นำฯ ว่าตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีที่เข้มข้นนี้ พวกเขาจะทำงานได้ราบรื่นหรือไม่  ในบทความนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับครอบครัวของศิษย์เก่าฯ 3 คน คือ ครูเต๋อ ครูเต๋า และครูก้อย (รุ่นที่ 5, 6 และ 1 ตามลำดับ) ที่มีฟีดแบคต่อโครงการต่างๆกันไป และเป็นเสมือน “ลมใต้ปีก” ของพวกเขาทั้ง 3 ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาเข้าไปคลุกวงในกับวงการการศึกษา จนเข้าใจปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่ง

     ผู้ปกครองที่มาให้สัมภาษณ์กับเรา คือ ศ.ดร.นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คุณพ่อของครูเต๋อ และครูเต๋า ที่เข้ามาเป็นครูผู้นำฯของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทั้งคู่ และ คุณสมใจ สว่างชม ซึ่งปัจจุบันทำอาชีพเกษตรกร คุณแม่ของครูก้อย ที่มีความภูมิใจในอาชีพครูที่ลูกสาวของเธอยังทำมาถึงปัจุจุบัน

     คำถาม: “ความรู้สึกแรกที่มีต่อโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คืออะไร”

     นายแพทย์ประสิทธิ์: “ได้ยินครั้งแรก เป็นเต๋อ ที่อยากไปเข้าร่วม เขาเล่าให้ฟังว่า มันก็เป็นโปรแกรมหนึ่งที่น่าจะสามารถพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จบจากโครงการได้ โดยการให้ไปสัมผัสกับปัญหาจริง เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่ที่สบายๆ ก็มีความรู้สึกว่าน่าสนใจ และคิดว่าการจะทำความเข้าใจปัญหาการศึกษา มันต้องไม่ใช่มานั่งฟังตำราอย่างเดียว”

     ในขณะที่มีผู้ปกครองที่สนับสนุน ผู้ปกครองบางคนอาจจะยังตั้งคำถามอยู่บ้าง ว่าเส้นทางที่เลือกนี้เป็นเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างเช่นคุณแม่ของครูก้อย ซึ่งในตอนแรก เธอยังมีคำถามต่อตัวเลือกนี้อยู่บ้าง

     คุณสมใจ: “เอาตรงๆคือ พอครูก้อยมาบอกแม่ว่ามันคืออะไร แม่ขอเปิดใจเลยว่าไม่อยากให้ทำ เพราะแม่อยากให้เขาทำงานธนาคารมากกว่า และแม่เองก็ไม่รู้จักโครงการนี้”

     “แต่ครูก้อยเขาบอกว่า ขอหนูลองทำดูก่อนได้ไหมแม่ ให้หนูได้มีประสบการณ์ และหาความรู้  ตอนแรกก็มีทะเลาะกันบ้าง ร้องไห้ แต่แม่ก็บอกเขาว่า ถ้าหนูมีใจรักทางนี้ก็ไป  ครูก้อยเขาให้แม่ตัดสินใจ แม่เลยให้ลองทำ ถ้าไม่ดี 2 ปีค่อยเปลี่ยนงานก็ได้”

     ดูเหมือนว่าคุณแม่ยังอยากให้ลูกทำอาชีพอื่นมากกว่าอาชีพครู แต่ทัศนคตินั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว คุณแม่บอกว่า “ตอนนี้เปลี่ยนไปมาก เพราะภูมิใจที่ครูก้อยทำอาชีพนี้ ก็ขอขอบคุณโครงการที่ทำให้ก้อยรู้จักตัวเอง มีประสบการณ์ จนได้ทำงานมาจนถึงตอนนี้”

     ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพครู ดูจะเป็นจุดร่วมหนึ่งที่ผู้ปกครองทั้งสองคนได้กล่าวถึงในการสัมภาษณ์ และดูจะเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศเรา 

     คุณสมใจต้องการให้ลูกของเธอเลือกอาชีพอื่นนอกจากอาชีพครูมาตั้งแต่แรก ส่วนนายแพทย์ประสิทธิ์ให้ข้อมูลที่สะท้อนใจอย่างหนึ่งว่า

     “เต๋อเขามาเล่าให้ฟังว่า พ่อรู้มั้ย ลูกศิษย์ของหนูมาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่พวกหนูรู้สึกเป็นคน”

     ซึ่งนายแพทย์ประสิทธิ์ได้ให้ทัศนะที่ขยายภาพนี้ออกไปในมุมกว้าง

     “ปัญหาการศึกษาไทย ไม่ใช่ความผิดที่ตัวเด็ก แต่อยู่ที่ครูกับ Ecosystem ซึ่งมันสะสมปัญหาหลายๆชั้น หลายๆ ด้าน จนมันออกมาเป็นประโยคนี้  แม้ปัญหาหลายอย่างจะเป็นที่สภาพแวดล้อม เช่น มีปัญหาเรื่องระบบเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ตัวครู เพราะมีคนจำนวนหนึ่งยึดอาชีพครู แต่ไม่เข้าใจสัจจะของความเป็นครู ที่มีความหมายถึงภาระงานที่หนัก และการนำลูกศิษย์ไปสู่แสงสว่าง”

     ในอีกมุม ดูเหมือนผู้ปกครองทั้งสองได้สะท้อนประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นครูไว้ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ ประเด็นเรื่องการยกย่องอาชีพครู

     นายแพทย์ประสิทธิ์บอกว่า “การแก้ปัญหาเรื่องครู อย่างแรกคือ สังคมไทยต้องยกย่องวิชาชีพครู ทำแบบนี้จะทำให้คนเก่งๆ อยากเข้ามาเป็นครู”

     ในส่วนของคุณสมใจ ได้พูดถึงตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ครูก้อยอยากเป็นครูต่อไปเรื่อยๆ แม้จะจบจากโครงการแล้ว เธอยังอยากอยู่ในระบบการศึกษาเช่นนี้ แม้จะมีอุปสรรคนานัปการ

     “ครูก้อยเคยมาเล่าให้ฟังว่า แม่ หนูไม่คิดเลยว่าการเป็นครูจะดี และมีเกียรติแบบนี้” คุณแม่บอก “เขาเล่าว่าเขามีวินมอเตอร์ไซค์คอยรับส่งเขาตลอด อายุมากกว่าพ่อเขาอีก พอเขาบอกว่าเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนที่เขาสอน วินคนนี้ยกมือไหว้ทุกวัน เรียกครูก้อย และบอกว่าลูกเขาก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้  เขาบอกว่าลูกบอกว่าครูก้อยเป็นคนน่ารัก”

     เมื่อถามถึงสิ่งที่ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลา 2 ปี คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสามคนได้เล่าถึงความประทับใจไว้ว่า

     คุณสมใจ: “โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาให้ลูกมีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำ และช่วยเหลือคน”

     นายแพทย์ประสิทธิ์: “2 ปีนี้ทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และโครงการนี้ทำให้ได้ทักษะผู้นำหลายอย่าง เช่น

  • Insight คือมองไกล และมองให้ขาด
  • Initiative กล้าเริ่มในสิ่งใหม่
  • Impact มองเห็นปัญหาที่สำคัญ
  • Integrity มีคุณธรรมจริยธรรม”

     ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งนายแพทย์ประสิทธิ์ และคุณสมใจ ได้ฝากถึงผู้ปกครองของว่าที่ครูผู้นำฯและคนที่อยากสมัครเข้าโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า

     นายแพทย์ประสิทธิ์: “TFT จะทำให้คนเข้าถึงปัญหาการศึกษาที่แท้จริง ทำให้ได้คิดค้น และรู้จักตัวเองดีขึ้น มีการคิด ทำงาน แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้  ที่สำคัญคือได้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม  2 ปีใน TFT เป็น 2 ปีที่ไม่ได้สบาย แต่ลำบาก แต่จะทำให้เรามีความเข้มข้นมากขึ้น ถือว่าคุ้มกับการให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำ”

     คุณสมใจ: “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เข้าไปแล้วได้เรียนรู้ มีความรับผิดชอบ และมีประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งต่อไปยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ประกอบอาชีพได้ด้วย”

     วิธีการหนึ่งของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือการให้ว่าที่ผู้นำทางการศึกษาได้ลงพื้นที่สัมผัสปัญหาการศึกษาจริง เป็นระยะเวลา 2 ปี  ซึ่งใน 2 ปีนั้น พวกเขาจะได้เห็นว่า อะไรบ้างเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของการศึกษาไทย  หลังจากจบโครงการ ศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จำนวนมากได้ทำงานผลักดันการศึกษาต่อ ในส่วนที่ตนเองมีความสามารถ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายว่า ในวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค และสามารถกำหนดอนาคตด้วยมือของตนเอง