บ่มเพาะทักษะผู้นำ ทำงานได้ในทุกองค์กร

ทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะอื่นๆที่ได้จากการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็น Soft Skill ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกที่ ศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์หลายคนได้นำทักษะเหล่านี้ไปใช้กับงานต่างๆ ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักศิษย์เก่า 2 คน คือ คุณทิพย์ และ คุณเผอิญ ที่ทำงานในบริษัทเอกชน และได้นำประสบการณ์จากการลงพื้นที่ 2 ปี ไปใช้พัฒนางานของพวกเธอ

     ทิพย์ ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 1 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Project Officer and Case Management อยู่ที่องค์กร Oasis Belgium ประเทศเบลเยียม เธอรับผิดชอบด้าน International Migration หรือการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ  หน้าที่หลักคือช่วยเหลือผู้หญิงที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาให้ออกจากวงจรความรุนแรงในครอบครัว และทำให้พวกเธอกลับมายืนด้วยตัวเองได้อีกครั้ง

     “ด้วยความที่เราเป็นคนไทย เราเลยได้ช่วยคนไทยและคนเอเชียเยอะ และส่วนใหญ่คนเอเชียที่ย้ายเข้ามา ก็เข้ามาแต่งงาน มีปัญหาเรื่องภาษา ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศ มีข้อจำกัดในการหางานประกอบอาชีพ ไม่รู้สิทธิที่ตนมีในต่างแดน จึงนำไปสู่การร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรเรา”

     ทิพย์จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเธอมีประสบการณ์สอนหนังสือในแคมป์คนงานก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์  เธอสังเกตเห็นความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทย และปัญหาที่นักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้  นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่เธอยังคงทำงานเพื่อผู้อพยพมาจนถึงทุกวันนี้

     เมื่อถามว่า ทักษะความเป็นครูติดตัวเธอมาตั้งแต่ตอนไหน เธอตอบว่าอาจจะเป็นเพราะเธอชอบสอนหนังสืออยู่แล้ว ถึงขั้นเคยเปิดสถาบันสอนภาษาของตนเอง แต่สิ่งหนึ่งที่เธอค้นพบ ทั้งจากการอยู่ใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และการสอนในที่อื่นๆ คือ

     “การเป็นครูไม่ใช่แค่การสอนทักษะ แต่เป็นการช่วยในด้านอื่นๆทั้งหมด อาชีพครูเป็นเรื่องของ Management and More (การจัดการ และมากกว่านั้น)”

     เมื่อให้เธอนิยามหนึ่งคำที่บ่งบอกความเป็น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มากที่สุด คำที่เธอเลือกก็คือ Growth Mindset หรือ การมีแนวคิดที่เน้นการเติบโต ไม่เพียงใช้กับตัวเธอเองเท่านั้น แต่เธอต้องทำให้คนที่เกี่ยวของสามารถนำความรู้ที่มอบให้ไปต่อยอดด้วยตนเองได้

     “งานที่เราทำอยู่ตอนนี้ เป็นงานที่ต้องคุยและจัดการกับคน แต่ละคนมีต่างปัญหากัน เราอาจไม่ใช่คนที่ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่เราต้องรับฟังเขา เพราะเขาต้องการความช่วยเหลือ ดั้งนั้นทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที เป็นอีกทักษะที่ทิพย์ได้เรียนจากการทำงาน”

     “การทำงานใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ช่วยสนับสนุนให้เราเป็นตัวเอง ทำให้เรากลายเป็นคนมีความมั่นใจและกล้าตัดสินใจ ที่เรียกว่าภาวะการเป็นผู้นำ นอกจากนั้น ประสบการณ์การเป็นครูยังช่วยเสริมสร้างทักษะการจัดการ ความอดทน การรับฟังอย่างครอบคลุม การเปิดกว้างทางความคิด และการรู้สึกร่วมไปกับผู้อื่น”

     “การเข้ามาทำตรงนี้ ไม่ใช่แค่การสอน แต่เป็นการทำให้เห็นปัญหาการศึกษาภาพใหญ่ ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำว่าเมื่อคนไม่รู้ เมื่อคนมีปัญหาด้านการศึกษามันเป็นอย่างไร การศึกษาเป็นงานพัฒนาที่ต้องการการกลั่นกรอง และการใส่ใจในทุกขั้นตอนของความคิด”

     เมื่อถามถึงเป้าหมายขั้นต่อไปของทิพย์ เธอบอกว่า เธอตั้งใจจะ “Be the voice for the voiceless (เป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียง)” เธอต้องการรู้จริงในงานที่ทำ และอยากเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับด้านการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ความฝันที่ไกลไปกว่านั้น คือเธออยากก่อตั้งองค์กรในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้กับคนที่ต้องการย้ายถิ่นฐานให้มีทักษะและความพร้อมในการใช้ชีวิตในประเทศใหม่ที่ไม่คุ้นชิน

     “ไม่ว่าอยู่องค์กรไหน เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนที่เกี่ยวข้อง และต้องพัฒนาทักษะและตัวตนที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ซึ่งตรงนี้ต้องการทักษะความเป็นผู้นำและการเป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง (changemaker skill) ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทำให้เราอยากพัฒนานักเรียน พัฒนาประเทศ แต่สิ่งที่เราต้องพัฒนาก่อนเลยก็คือตัวเอง  จะพัฒนาไปแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะไขว่คว้าได้แค่ไหน ที่สำคัญ เราได้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียน ให้เด็กออกไปแล้วเรียนรู้ด้วยตนเองได้”

     สำหรับเผอิญ ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่น 4 ประโยคที่บ่งบอกความเป็น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้ดีที่สุด คือ “Challenge Yourself, Change Lives (ท้าทายตนเอง และเปลี่ยนชีวิตคนอื่น)”

     “เอิญได้ยินประโยคนี้ตั้งแต่ก่อนสมัครเข้า TFT ซึ่งจริงๆชีวิตเอิญก็อยู่กับ Challenge (ความท้าทาย) มาตลอด”

     เหตุผลที่ทำให้เผอิญเข้ามาร่วมกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นเพราะเธอเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ยังเด็ก  เพื่อนหลายคนที่เรียนเก่งกลับหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้เรียนต่อ เพราะแค่ยากจน พ่อแม่ไม่มีเงินสนับสนุนด้านการศึกษา ยิ่งเรียนสูงขึ้น เธอก็ยิ่งรู้สึกว่า “การศึกษาและโรงเรียนที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่เด็กทุกคนจะเข้าถึงได้”  

     ตอนเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้า เธอสามารถซื้อใบสมัครได้แค่ที่เดียว เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าสมัคร ค่าเดินทาง เธอจึงคิดอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ต่างไปจากที่เธอเคยเจอมาตอนเด็ก

     “ตอนไปสอนที่คลองเตยก็ได้เจอความท้าทายทุกวัน เราเข้าไปเข้าใจพื้นที่จริง และพบว่า ครูต้องมีภาระเยอะ และยังต้องมีไฟ มีพลังที่จะสอน ทั้งที่นโยบายต่างๆไม่เอื้อ  เอิญได้เห็นข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่สามารถทำในห้องเรียนได้ แต่ยังพยายามปรับการสอนทั้งวิชาการและทักษะชีวิต เพื่อให้เป็นทักษะที่ติดตัวเด็กในอนาคตไม่ว่าเขาจะเติบโตต่อไปเส้นทางใดก็ตาม”

     เมื่อถามเธอว่า แล้วการมาเป็นครูให้อะไรกับเธอ เธอตอบว่า “ทำให้เอิญกลายเป็นคนที่ดีขึ้น เติบโตขึ้น และมีชีวิตสังคมเพื่อนที่ดี”

     เมื่อถามเธอว่า “ชีวิตที่ดี” ในความหมายของเธอคืออะไร เธอตอบว่า

     “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้เจอกับเครือข่าย (Connection) ที่ดี เป็นสังคมเพื่อนที่มีความคิด เป้าหมายคล้ายกัน ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวังที่จะเปลี่ยน และเพื่อนๆกับสังคมใน TFT ก็ยังสนับสนุน ทำงานร่วมกันอยู่ในภาคส่วนอื่นๆ

     นอกจากนั้น โปรไฟล์จากที่นี่ยังทำให้ได้งานที่ดีด้วย ทุกครั้งที่เราไปพูดที่ไหน หรือทุกคนที่รู้ว่าเราจบจากที่นี่จะเห็นว่าเรามีความโดดเด่น อีกทั้งทักษะการเป็นผู้นำและการบริหารจัดการทำให้เราได้สร้างผลกระทบต่อตัวเราและนักเรียน และเป็นนักเรียนนี่แหละที่กลับมาเป็นพลังให้เราค่ะ”

     ตอนนี้ เผอิญเป็น Senior Corporate Image and Sustainable Development อยู่แผนก Public Relations ที่บริษัท AIS ทำงานด้านการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรเอกชน เธอเล่าว่า ทักษะจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เธอได้นำมาใช้อย่างโดดเด่นที่สุด คือ 3C ได้แก่ Communication (การสื่อสาร) Collaboration (การร่วมมือกับผู้อื่น) และ Community (ทักษะการสร้างชุมชน)

     “ตอนเราไปเป็นครู เราต้องเล่าเรื่องให้เป็น ก่อนการเล่าวิชาการต้องผ่านการกลั่นกรองก่อนว่าจะสื่อสารยังไง ให้คนเข้าใจ นอกจากนั้น เรายังต้องสร้างความร่วมมือกับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการโรงเรียน ลงมาจนถึงนักเรียนและชุมชน และยังต้องสร้างความเป็นทีม มีการบริหารชุมชน ตรงนี้เราได้นำมาใช้ในการทำงานมาก เพราะเราต้องบริหารความสำคัญกับพาร์ทเนอร์กว่า 150 องค์กร สร้างให้เกิดเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน”

     สำหรับเป้าหมายระยะต่อไปของเผอิญ คือ การเป็น Changemaker ผู้ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ผลักดันให้ผู้คน/องค์กรลุกขึ้นมาช่วยกันดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งทำให้เกิดสังคมที่พัฒนาธุรกิจโดยใส่ใจเรื่องการศึกษาและสภาพแวดล้อมด้วย

     “สำหรับคนที่กำลังคิดจะสมัครเข้าร่วมโปรแกรมของ TFT เอิญอยากบอกว่า นี่คือพื้นที่ที่ไม่ง่ายเลยที่ชีวิตนึงจะมีโอกาสได้เข้ามาทำงานบริหารชีวิตคนหลายร้อยคน ได้ลองผิดลองถูกใน Project หนึ่งที่เป็นของเราเอง อย่าแค่มองว่าเข้ามาแล้วเราจะทำให้การศึกษาดี เพราะตัวเราเองก็จะดีไปด้วย การเข้ามาที่นี่จะเปลี่ยนตัวเราก่อนเลย ทำให้เรารู้จักและวางทิศทางของตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังเสริมทักษะติดอาวุธให้ตัวเรา ยังมีเด็กอีกมากรอพี่ๆที่เก่งๆที่จะสร้างโอกาสให้เขา เข้ามาเปลี่ยนแปลงห้องเรียนด้วยกันค่ะ”