พัฒนาการทางการศึกษาที่จับต้องได้ ขยายผลจากห้องเรียนสู่ชุมชน

“ผอ. ชื่นชมที่ทาง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการส่งมอบโอกาสดี ๆ ให้โรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็ก ๆ ได้รับโอกาสจากบุคลากรที่มีความรู้ ทัศนคติเชิงบวก และทำให้เห็นการเติบโตของการศึกษาที่จับต้องได้”

เสียงสะท้อนจากผู้อำนวยการสาลี่ เชิดชู ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มองเห็นว่า ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนอย่างได้ผลจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการสร้างแรงบันดาลใจและส่งพลังบวกให้บุคลากรการศึกษาในพื้นที่

     “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา เพราะอาชีพครูเป็นการสร้างคน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่และสามารถส่งไปถึงเด็กได้  เป็นคนที่มีแนวคิดเจตคติที่ดี ที่พาตัวเองเข้ามาสู่เส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลง”

     ผอ. สาลี่ มีความประทับใจต่อการทำงานกับครูผู้นำ ฯ ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 7 และ รุ่นที่ 9 หลายอย่าง

     “ผอ. รู้จักครูทีช ฯ ประมาณปี 63-34 ตอนนั้นเป็น ผอ. มาได้ประมาณ 3 ปี” ผอ. สาลี่เล่า “ตอนนั้นใช้ชื่อ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคิดว่าเป็นชื่อที่มีพลัง”

     “น้องคนหนึ่งจบรัฐศาสตร์ แต่มาสอนคณิตศาสตร์ ตอนแรกก็คิดว่าจะทำได้มั้ย แต่ปรากฎว่าน้องเขามุ่งมั่น และทำได้ดี แต่ก่อนจะคิดว่าวิชานี้เป็นข้อจำกัดของเด็กสายศิลป์ แต่น้องเขาทำให้เห็นว่าคนคนหนึ่งสามารถเรียนรู้ได้มากมาย ถ้าเรามีใจ”

     สำหรับ ผอ. สาลี่คำว่า “ครูผู้นำ ฯ” เป็นชื่อที่กระชากใจเด็ก

     “ถ้ามองแบบผิวเผิน ทำไมโรงเรียนต้องคาดหวังให้ครู 2 ท่านมาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนตามลำพัง เราเองมีหน้าที่โดยตรง ทำไมไม่มาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย” ผอ. สาลี่แบ่งปัน 

     “ไม่ใช่แค่ครูทีช ฯ 2 คน แต่คำว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำให้ ผอ. และครูในโรงเรียนลุกขึ้นมาเติบโตไปพร้อมกัน และส่งต่อไปยังนักเรียน เพราะเราเองก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง  นักเรียนก็ต้องมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นบรรยากาศของการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ทุกคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน ไม่ต้องให้คนอื่นมาเปลี่ยนเรา”

     สำหรับผอ. สาลี่ การสร้างห้องเรียนที่ดีจะต้องผสานพลังจากชุมชนด้วย ซึ่งครูผู้นำ ฯ ก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องนี้

     “ห้องเรียนไม่ใช่ของเราคนเดียว เป็นห้องเรียนของชุมชน ที่คุณครูจะผสานพลังทุกภาคส่วน” ผอ. สาลี่กล่าว 

     “ครูทีช ฯ ก็ได้ให้ความร่วมมือในการใช้ทุนชุมชนมาเกื้อกูลการศึกษา อย่างเช่น มีครูคนหนึ่งทำห้องเรียนคณิตศาสตร์ ก็พาเด็กไปสอนในสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จ  สอนวิชาวางแผนการลงทุน  เจ้าของกิจการเองก็ได้ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของชุมชน”

     “นอกจากนั้นยังมีการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม ซึ่งมันตอบโจทย์ เพราะครูทุกคนมาแล้วก็อาจจะไป แต่โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนตลอดกาล คนในชุมชนจึงต้องช่วยกันสร้างภาพ คุณลักษณะ ของการศึกษาในชุมชนที่อยากจะให้เกิด”

     “สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว ถ้า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ไม่ได้มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างแรงบันดาลใจในส่วนนี้”

     การพัฒนาการศึกษาร่วมกับชุมชน คือหนึ่งในพันธกิจของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์  เพราะเราเชื่อว่า ชุมชนมีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน  ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ยังคงส่งครูผู้นำ ฯ เข้าไปยังห้องเรียนและชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การศึกษาที่มีคุณภาพและมีความเสมอภาคเกิดขึ้นจริง