เชื่อว่าเป็นไปได้ จุดประกายการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน

หลังจบโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2 ปี ศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ หลายคน ได้ทำงานขับเคลื่อนการศึกษาต่อ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มศิษย์เก่าที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ บทความนี้ จะพาไปรู้จักกับส้ม ซัน และแอน ศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 ซึ่งทำงานเป็นครูที่นี่มาหลายปีแล้ว

เมื่อถามว่าถ้าระบบการศึกษาขาดเราไปสักคน จะเป็นอย่างไร ส้มให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ถ้าระบบการศึกษาขาดเราไป จะขาดความเป็นไปได้ใหม่ในระบบการศึกษา โดยส่วนตัวคิดว่า ในทุก ๆ บริบทของสังคมแต่ละที่ มีต้นทุนและความเป็นไปได้ในแบบของตนเอง ในอนาคตความเข้าใจเรื่องการเข้าถึงและการกระจายอำนาจในการบริหารและจัดการศึกษาจะมีมากขึ้น”

     ส้มทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีนักเรียนที่จบการศึกษาไปแล้ว 1 รุ่น และกำลังจะรับนักเรียนรุ่นใหม่ โดยทำหน้าที่ทั้งครูผู้สอน กลุ่มสุขภาพและสุขภาวะ ออกแบบและจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนตั้งแต่ ม. 1-6 และยังทำหน้าที่ด้านงานบริหาร ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนในโรงเรียนอีกด้วย

     สำหรับเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ส้มได้เจอความท้าทายหลายอย่าง 

     “การเปลี่ยนการศึกษาเชิงระบบเป็นเรื่องยากมาก ในฐานะคนหน้างาน เราต้องเลือกปัญหาที่อยากเปลี่ยนแปลงแก้ไข”

     “สุดท้ายต้องมีแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือหัวหน้า ที่จะไปด้วยกัน ถ้าไม่มีองค์ประกอบนี้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ยาก”

     ส่วนซันได้แบ่งปันเกี่ยวกับผลกระทบที่สร้างว่า

     “คิดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียนและโรงเรียน ทั้งการออกแบบห้องเรียนเพื่อเกิดประโยชน์ผู้เรียนมากที่สุด การพัฒนาสื่อและนวัตกรรมการสอน ตลอดจนการช่วยงานโรงเรียนต่าง ๆ ที่เราพอทำได้ เช่น งานดูแลนักเรียน งานกิจกรรมโรงเรียน งานพัฒนาครู”

     ซันคิดว่าถ้าขาดตัวเองไป ระบบการศึกษาอาจจะไม่ได้ขาดอะไร เพราะเขาเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆตัวหนึ่ง

     “จากที่ผมได้ทำการสอน และไปร่วมอบรมทำงานกับเพื่อนครูทั้งในและต่างโรงเรียน ได้เห็นว่ามีเพื่อนครูอีกมากมายที่ใจรัก มุ่งมั่น และมีความสามารถในการขับเคลื่อนการศึกษา มีครูมากมายที่รักการสอน และรักนักเรียน เราเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ และเป็นกระบอกเสียงต่อเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญอะไรขนาดนั้น เราทำเท่าที่ทำได้ เท่าที่โอกาสและจังหวะเวลาเข้ามา”

     ซันมองว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น 2 ระดับ คือระดับหน้างาน และระดับนโยบาย

     “ในหน้างาน มันจะมีสิ่งที่ไม่สมดุลอยู่ในทุกโรงเรียน เราต้องยืนยันในหลักการของเรา โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากห้องเรียนในระดับแรก”

     “ส่วนระดับนโยบาย ก็ต้องมีโรงเรียนนำร่อง เป็นโรงเรียนที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง”

     ในส่วนของแอน เธอมองตัวเองในอีก 5-10 ปี ว่า อยากใช้ศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่

     “เราอยากทำงานหน้างาน เพราะชอบประเด็นความเท่าเทียม ความเสมอภาค นอกจากนั้นเรายังอยากใช้ศักยภาพของเราขจัดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับครู”

     “เราเลือกมาเป็นครูเพราะชอบการเรียนรู้ อยากทำสิ่งที่คนบอกว่าทำไม่ได้ให้เป็นไปได้”

     ความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ไหลเวียนอยู่ในวิธีคิดของทั้งสามคน และทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปโดยเริ่มจากส่วนเล็ก ๆ อย่างห้องเรียน  ทั้งส้ม ซัน และแอน เชื่อว่า วันหนึ่งความเท่าเทียมทางการศึกษาจะเกิดขึ้นจริงในประเทศของเรา

     “พอเห็นการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน เราก็มีแรงบันดาลใจในการทำงานของเราต่อไป เรามีคุณค่าที่ยึดถือคือการทำเพื่อคนอื่น และพอมาทำตรงนี้ เราก็เห็นว่าตัวเราเป็นประโยชน์กับคนรอบข้างมากกว่าที่เราคิด” แอนทิ้งท้าย