เสริมการศึกษาในระบบ ปิดช่องว่างเพื่อเติมเต็มศักยภาพ

“โรงเรียนของผม แก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ในโรงเรียนทั่วไป เช่น นักเรียนอ่านไม่ออก ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่รู้จะเลือกอนาคตอย่างไร เป็นเหมือนตัวแทนของปัญหาการศึกษาที่มีอยู่ในระบบ”

กรีน กรีนฐิณญาภัทร์ เธียรธานินทร์ ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4 ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร THEKREEN: HomeSchool เล่าถึงผลกระทบที่ตัวเองได้สร้าง

หลังจบจากโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2 ปี กรีนตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด และได้เห็นโอกาสพัฒนาการศึกษาในพื้นที่

     “ตอนแรกเป็นติวเตอร์ เริ่มจากสอนน้อง ๆ ญาติ ๆ ก่อน หลังจากนั้นเราเห็นว่ามีความต้องการในด้านนี้ จึงเปิดเป็นโรงเรียน”

     โรงเรียนของกรีนเป็นทั้งเ homeschool และโรงเรียนกวดวิชา รับสอนและให้คำปรึกษานักเรียนตั้งแต่ 2 ขวบไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีทั้งนักเรียนประจำและนักเรียนที่มาติวด้วย และมีแผนจะขยายหลักสูตรอื่น ๆ ในเร็ว ๆ นี้

     “ผมวางแผนเปิด homeschool เอาไว้ภายใน 5 ปี ตอนนี้ 4 ปีปลาย ก็สามารถทำตามเป้าได้แล้ว” กรีนบอก

     ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ หรือนักเรียนมหาวิทยาลัยที่สับสนในการค้นหาตนเอง โรงเรียนของกรีนก็รับเป็นที่ปรึกษาทั้งหมด

     “เริ่มมีนักเรียนจากโรงเรียนรัฐ ฯ ในพื้นที่มาเรียนด้วย แล้วก็มีคนเห็นความเปลี่ยนแปลง ถามว่า เรียนจากที่ไหนมา ทำไมเปลี่ยนไป  ครูจากโรงเรียนรัฐ ฯ ก็เริ่มส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนผม แล้วก็มีการเชิญผมไปร่วมงานกับโรงเรียน” กรีนเล่า

     โรงเรียนของกรีนยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อพัฒนาห้องเรียนต้นแบบ

     “ผมยังเป็นที่ปรึกษาให้โรงเรียนเกี่ยวกับการสร้างห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนอยากเรียน”

     “หากคิดเป็นผลกระทบที่สร้าง ก็ไปถึงเด็กกว่า 5,000 คน เพราะได้ทำงานกับผู้บริหาร และช่วยนักเรียนที่มาจากต่างอำเภอด้วย”

     นอกจากนั้น โรงเรียนของกรีนยังได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อดูแลนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้

     “เราสามารถช่วยเหลือโรงพยาบาลในการระบุตัวเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น และออทิสติก พบว่ามีความแม่นยำกว่าโรงเรียนทั่วไป”

     เมื่อถามว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีส่วนทำให้กรีนตัดสินใจทำงานด้านการศึกษาต่ออย่างไร กรีนเล่าว่า ตนเองเป็นคนไม่ได้จริงจังกับความฝัน แต่อยู่กับความเป็นจริงมากกว่า

     “ผมเป็นคนที่ไม่ได้ซีเรียสกับความฝัน เดิมทีอยากเป็นผู้ประกาศ แต่ตอนนี้ก็เหมือนได้ทำงานสื่อสารผ่านการสอน ผู้ชมของเรากลายเป็นนักเรียนแทน  ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทำให้ได้ทักษะในการจัดการกับปัญหา ทรัพยากรที่มีจำกัดของระบบรัฐ ฯ จะใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดการศึกษาที่ดีได้”

     “ถ้าทรัพยากรพร้อม การศึกษาพร้อม นักเรียนก็สามารถทำสิ่งที่มีความสุขจริง ๆ ได้ อยากเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเป็น มีอิสระที่จะเลือกทางของตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอด และวันหนึ่งอยากทำสิ่งใหม่ ๆ ก็สามารถทำได้”

     ความฝันของกรีนที่อยากจะเห็นการศึกษาไทยดีขึ้นยังคงดำเนินต่อไป และเป็นความฝันเดียวกันกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่อยากเห็นเด็ก ๆ ทุกคน ได้กำหนดอนาคตและความฝันของตนเอง จากการได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเรียนที่ไหนก็ตาม