ส้มโอ เล่าถึงแรงบันดาลใจและเส้นทางการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนกว่าสิบปีว่า “เราตั้งเป้าหมายว่าอยากจะทำงานเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา จึงเริ่มทำงานด้านการพัฒนาเด็กอย่างจริงจัง และใช้ทักษะกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่นสิทธิเด็ก จนค้นพบว่าการทำงานเชิงรับอย่างเดียวไม่เพียงพอ ทำให้เราสนใจที่จะทำงานกับโรงเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น”
ประสบการณ์ดังกล่าว นำเธอมาพบกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง และได้ทำหน้าที่สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบัน ส้มโอเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพชุมชน (Trainer and Community Empowerment) ที่มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก เธอส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในสลัมเขตเมืองและพื้นที่พักแรงงานก่อสร้าง ผ่านการทำงานกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย การศึกษา สวัสดิการสังคม และสุขภาพ
จากการทำงานที่มูลนิธิฯ ทำให้ส้มโอเข้าใจปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างลึกซึ้ง
“หลายครั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็ส่งผลให้ชุมชนที่เราทำงานด้วยมีทัศนคติที่แตกต่างจากเราไปบ้างในเรื่องการเลี้ยงดูบุตรหลาน เช่น ต้องการให้มาช่วยทำงานให้เร็วที่สุด จึงส่งเสริมการศึกษาถึงแค่ม. 3 หรือให้เปลี่ยนมาเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) แทน”
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม (socioeconomic context) ของครอบครัวและสมาชิกในชุมชน เช่น อุปสรรคด้านเงิน หรือการไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถสนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มที่
ส้มโอพบว่า หนึ่งในสาเหตุของอุปสรรคเหล่านี้คือการขาดการเข้าถึงชุดข้อมูลหรือแนวคิดที่ถูกต้อง เธอจึงใช้ทักษะกระบวนกร ประสบการณ์ในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง และแนวทางการทำงานร่วมกับชุมชน จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในด้านต่างๆ ให้กับผู้ปกครอง อาทิ การให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก การยุติความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา จนถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
“ข้อมูลพวกนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งกิจกรรมที่เราจัดก็ช่วยให้เขาเปิดใจ และช่วยผลักดันงานของเราไปในทางที่ดีขึ้นได้” ส้มโอเล่าถึงผลลัพธ์จากการทำงานกว่าหนึ่งปีด้วยความภาคภูมิใจ
“ทุกครั้งที่เราจัดการอบรมและกลับไปติดตามผลในชุมชน เราพบว่าคุณแม่ คุณพ่อ ในชุมชนจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรา” ส้มโอบอก “เช่น เราแสดงละครเกี่ยวกับการพาลูกหลานไปสมัครเรียนให้เขาดู ก็มีผู้ปกครองมาบอกว่ายังจำได้จนถึงทุกวันนี้”
“ไม่ใช่แค่เขาจดจำความรู้ที่เรานำเสนอให้เท่านั้น แต่เขายังแนะนำให้คนอื่นๆ ในชุมชนต่อได้ว่า ถ้าจะพาลูกไปสมัครเรียนต้องทำอย่างไร” ส้มโอเสริม
เมื่อผู้ปกครองเปิดใจและเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลลูกหลานอย่างถูกต้อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในชุมชนก็เป็นไปได้
“ผู้ปกครองกลายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาลูกหลานของเขา แม้แต่คนในชุมชนก็ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับมูลนิธิฯ และคอยถามเราว่ามีวิธีการหรือคำแนะนำอย่างไรไหมเพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าเรียน” ส้มโอเล่าอย่างตื่นเต้น
นอกจากนี้ ความเข้าใจและใส่ใจขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในชุมชนเหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
“บริษัทนายจ้างที่เห็นความสำคัญ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุน ทั้งในแง่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ก่อสร้าง หรือศาลาการเรียนรู้ เป็นต้น”
ปัจจุบัน ส้มโอทำงานกับชุมชนกว่า 40 ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนกว่า 1,000 คน สำหรับเธอแล้ว การมีส่วนร่วมของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง สมาชิกชุมชน และคนทุกฝ่าย คือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
“ถ้าเราทุกคนช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของเด็กในชุมชนได้ เด็กๆ ก็จะสามารถซึมซับสิ่งดีๆ และเมื่อโตขึ้นหรืออยู่ในสังคมใหม่ เขาก็จะไปปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างดีเช่นกัน” ส้มโอทิ้งท้าย
เนื่องใน ‘วันพ่อแม่สากล’ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ร่วมเฉลิมฉลองบทบาทของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมถึงทุกคนรอบตัวเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา เราขอเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาคให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้
อ่านเรื่องราวการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการศึกษาไทยของมูลนิธิเพิ่มเติมได้ ที่นี่