เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า
February 12, 2024

กล้าลองสิ่งใหม่ ในโลกที่ผู้หญิงก้าวสู่ความเท่าเทียม

เชื่อไหมว่าในโลกใบนี้มีวันสำหรับเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ และวันนั้นก็คือ วันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล หรือ International Day of Women and Girls in Science ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันนี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ และให้พื้นที่ในด้านนี้กับผู้หญิงมากขึ้น

กล้าลองสิ่งใหม่ ในโลกที่ผู้หญิงก้าวสู่ความเท่าเทียม

แม้สังคมของเราจะมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการประกอบอาชีพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางสายงาน ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางเพศอยู่ สายงานที่มีผู้หญิงทำงานค่อนข้างน้อย คือ สายงานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ซึ่งเป็นสายงานที่ได้รับความสำคัญในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงคนหนึ่งที่ทำงานในสายงานนี้ คือ ฝน ชนกานต์ ชูชีพชื่นกมล ศิษย์เก่าฯ รุ่นที่ 2 ปัจจุบันเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ

เมื่อถามฝนว่า การเป็นผู้หญิงในแวดวงนี้ มีความท้าทายอะไรบ้างไหม ฝนตอบว่า

“ในสายงานที่ฝนเรียน คือ สายเคมี มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างน้อย เพราะมีผู้หญิงและผู้ชายเท่า ๆ กัน แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่บ้าง โดยเฉพาะเวลาต้องไปลงพื้นที่  งานของฝนคือการทำวิจัยและทดสอบเกี่ยวกับเยื่อกระดาษ พอมีการไปลงพื้นที่ หัวหน้าก็จะเลือกให้ผู้ชายไปก่อน เพราะมีความสะดวกกว่า เช่น บางครั้งอาจจะต้องกลับดึก หรือมีความไม่สะดวกสบายเรื่องที่อยู่”

“บางครั้งเราไม่ค่อยได้รับโอกาส เลยไม่ค่อยได้พิสูจน์ตัวเอง แต่ทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ ก็จะทำอย่างเต็มที่ ทำตัวกินง่าย อยู่ง่าย ไม่มีปัญหาเรื่องที่อยู่ และทำให้เขารู้ว่าเราทำได้

“สำหรับการทำงานในห้องแล็บ ก็จะทำเต็มที่ แม้มีโจทย์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราก็จะทำให้เห็นว่าเราทำได้ อะไรที่ไม่รู้ ก็เปิดกว้างรับข้อมูลใหม่ ๆ “

สำหรับฝน การได้เคยทำงานกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะทำให้เธอเป็นคนที่ไม่กลัวการลองสิ่งใหม่ๆ

“ช่วงที่ฝนไปเรียนต่อที่สวีเดน ในตอนนั้นมีนักเรียนไทยไปน้อยมาก และทุกคนก็กังวลหมดเลย ฝนเป็นคนเดียวที่ไม่กังวลเลย และยังเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ที่มีแต่คนสวีเดนเข้าร่วมด้วย”

“การทำงานกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นสิ่งที่ท้าทาย ฝนคิดว่าท้าทายกว่าการทำงานวิทยาศาสตร์อีก เพราะเป็นการทำงานกับคน ซึ่งคนนั้นคาดเดาไม่ได้  ถ้าเป็นสารเคมี เรายังพอคาดเดาได้ว่า อันนี้ไม่เวิร์ค จะปรับการทดลองยังไง แต่กับคนนั้นคาดเดาไม่ได้เลย  พอผ่าน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ แล้ว ทำให้ความท้าทายอื่นๆ ที่เจอในชีวิตมันง่ายขึ้น”

และความท้าทายใหม่ที่ฝนกำลังเจอ ก็คือ เรื่องการผลักดันมาตรฐานกระดาษบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่เธอเคลื่อนไหวร่วมกับหน่วยงานของเธอมาเป็นเวลาราว 2 ปีแล้ว

“ประเทศไทยเรายังไม่มีการทดสอบมาตรฐานกระดาษบรรจุภัณฑ์อาหารอย่างจริงจัง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะกระดาษสัมผัสกับอาหารโดยตรง และถ้ามีสารตกค้าง ก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย  ในเรื่องนี้ฝนร่วมผลักดัน ได้คุยกับหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอยากให้มีการผ่านกฎหมายออกมา ซึ่งถ้าผ่านในปี 2567 นี้ ทุก ๆ โรงงานที่ทำกระดาษบรรจุภัณฑ์ ก็จะต้องส่งผลิตภัณฑ์มาทดสอบที่แล็บของเรา”

ฝนเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบในเรื่องการลองสิ่งใหม่ ๆ และสายวิทยาศาสตร์เองก็ต้องการทัศนคติเช่นนี้ เป็นเพราะตัวเธอนั้น “เชื่อในความเป็นไปได้” และความเชื่อนี้เองที่ผลักดันให้ขบวนการสิทธิสตรีเดินหน้ามาถึงจุดที่ผู้หญิงเท่าเทียมกับเพศอื่น ๆ มากขึ้นในทุกวันนี้  และความเชื่อนี้ก็สำคัญกับการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในด้านอื่น ๆ เช่น ความเท่าเทียมด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อยากชวนให้ทุกคนเป็นกำลังใจและสนับสนุนผู้หญิงที่อยู่รอบ ๆ ตัวคุณ โดยเฉพาะผู้หญิงในแวดวง STEM ซึ่งต้องพบความท้าทายหลายอย่าง และเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ  หากปราศจากผู้หญิงเหล่านี้ แวดวงวิทยาศาสตร์คงขาดมุมมองที่สำคัญจากอีกด้านหนึ่งไปอย่างมาก

สมัครโครงการ