บุ๊กบิ๊คเท้าความว่า ตนมีใจรักในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ก่อนสมัครโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระหว่างที่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ก็ได้จัดโครงการสร้างทักษะและการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ และความชอบดังกล่าวยังติดตัวบุ๊คบิ๊กมาโดยตลอด แม้หลังจบโครงการ
“หลังจบโครงการ ฯ ผมยังคงมองหาเส้นทางเพื่อสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ และเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาอยู่ จึงเริ่มเห็นโอกาสที่จะสร้างพื้นที่เสริมทักษะ (incubation space) ขึ้น”
ปัจจุบัน บุ๊คบิ๊กเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารโครงการ บริษัท ‘Youth Plus Thailand’ ธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นเสริมพลังคนรุ่นใหม่ให้สามารถรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงได้ ผ่านการจัดกิจกรรมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของผู้เข้าร่วม
หนึ่งในจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ‘Youth Plus Thailand’ คือการที่ได้รับทุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) เพื่อจัดกระบวนการเสริมทักษะและศักยภาพของเยาวชนในประเทศไทย นำไปสู่การที่เยาวชนจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนของตน
“โครงการที่ได้ทุนนี้ เราใช้ชื่อว่า ‘Youth SDGs’ เป็นโครงการที่ทำงานกับกลุ่มเฉพาะซึ่งประกอบไปด้วยเด็กและเยาวชนมุสลิม กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) และคนพิการ ภายใต้แนวคิด ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leave no one behind)”
“เราออกแบบกระบวนการให้เยาวชนทั่วไปได้ทำงานในทีมเดียวกันกับกลุ่มเฉพาะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ผลลัพธ์คือ เกิดกิจกรรมทั้งหมด 35 กิจกรรมทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยเยาวชนในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ”
นอกจากผลกระทบเชิงบวกที่เกิดกับเยาวชนและชุมชนแล้ว โครงการ ‘Youth SDGs’ ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่บุ๊คบิ๊กได้ดึงศิษย์เก่าของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เข้ามามีส่วนร่วม โดยได้ทำงานร่วมกับ ‘ฝน’ – ชนกานต์ ชูชีพชื่นกมล อดีตครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 และ ‘ปริม’ – ณิชาพร ภาผล อดีตครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง
“พี่ฝนเข้ามาเป็นที่ปรึกษา (supervisor) และช่วยดูแลกระบวนการของ ‘Youth SDGs’ หลายอย่าง ทั้งการดูแลทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงภาพรวมการพัฒนาแกนนำเยาวชนที่ต้องไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ของเขา”
“ส่วนปริมเป็นผู้ดูแลแกนนำเยาวชนเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และดูแลกิจกรรมของเยาวชนที่มีสมาชิกทีมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์”
นอกจากศิษย์เก่าทั้งสองคนที่ร่วมเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังโครงการแล้ว บุ๊คบิ๊กและทีมก็ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เข้ามาเป็นกระบวนกร วิทยากร รวมถึงครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยชวนนักเรียนของตนเข้ามามีส่วนร่วม
“ศิษย์เก่าทีช ฯ มองเห็นความเป็นไปได้ คือมี ‘sense of possibility’ เหมือนกัน และมีนิสัยที่ไม่ยอมแพ้ ซึ่งทั้งพี่ฝนและปริมเป็นตัวอย่างที่ดีมาก” บุ๊คบิ๊กเล่าถึงทักษะของศิษย์เก่า ฯ ที่ช่วยให้งานสำเร็จลุล่วง
“นอกจากนี้คือการฟังและเปิดใจ ซึ่งช่วยให้สามารถพูดคุยปรับตัวเข้ากันได้ดี และการมีความรักในการพัฒนาการศึกษาไทยอยู่เสมอ”
จากการได้ทำโครงการในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำให้บุ๊คบิ๊กเริ่มมีแนวคิดขยายผลกระทบเชิงบวกของเครือข่ายศิษย์เก่า ฯ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน
“พอมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่หาดใหญ่ ทั้ง ‘Youth SDGs’ และกิจกรรมอื่น ๆ ผมก็เริ่มมองหาคนที่มีเป้าหมายร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงเริ่มติดต่อกับศิษย์เก่า ฯ มากขึ้น ทำให้รู้ว่ามีหลายคนในพื้นที่นี้ที่อยากปล่อยของ อยากทำกิจกรรมพัฒนาเด็กในพื้นที่”
“ผมเชื่อในพลังของเครือข่ายศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์มาตั้งแต่แรกแล้วว่า จะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยกันได้ ขอเพียงมีพื้นที่และโอกาสที่จะได้ลงมือทำเท่านั้น ก็จะต่อยอดเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณประโยชน์ได้”
ระยะเวลาสองปีที่ได้คลุกคลีกับบริบทปัญหาการศึกษา ทำให้ครูผู้นำ ฯ ค้นพบแนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาที่เหมาะกับความถนัดของตน แต่ไม่ว่าศิษย์เก่าจะมีความชอบและทักษะที่แตกต่างกันไป เครือข่ายศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ยังคงมุ่งมั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกภายใต้เป้าหมายร่วมกัน นั่นคือการทำให้เด็กและเยาวชนในประเทศไทย สามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียม และกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้นั่นเอง