ตะวันเริ่มเปิดใจให้เปาจากการเล่นเกม Arena of Valor (RoV) ด้วยกัน และเริ่มเรียนรู้ทั้งเนื้อหาวิชาการและการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนกับครูเปามากขึ้น จนผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ถ้าไม่มีครูเปา ตะวันก็คงว้าเหว่” อาของตะวันเล่า “หลังจากได้เจอครูเปา ตะวันดีขึ้นทุกอย่างเลย ทั้งด้านการเรียน กิจกรรม ครูเปาพาไปแข่งที่ไหนก็สนใจ”
ยิ่งไปกว่านั้น ตะวันยังได้เข้าร่วมชมรมถ่ายภาพของครูเปา ซึ่งทักษะการถ่ายภาพนี่เองที่ตะวันได้จำมาต่อยอดเป็นอาชีพในปัจจุบัน คือการเป็นช่างภาพที่กองกิจการพลเรือน กองทัพเรือสัตหีบ
อีกหนึ่งชีวิตที่เปลี่ยนแปลงคือ “ปั้น” อดีตนักเรียนของ “ครูปู” – รภัทร จำแนกวงษ์ และ “ครูฟลุ๊ค” – จิราวุฒิ จิตจักร ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์รุ่นที่ 6
ปั้นเล่าว่าสมัยเพิ่งเริ่มเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขายังไม่มีเป้าหมายในชีวิต เป็นช่วงเวลาที่ถูกจำกัดด้วยกรอบของสังคม จนกระทั่งได้เจอครูทั้งสองคน ความคิดของเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป
“หลังจากที่เจอครูฟลุ๊คกับครูปู ความคิดก็เริ่มเปลี่ยน ครูจะคอยให้เราทำอะไรใหม่ๆ เหมือนเปิดประตูโลกใหม่ให้เรา ลบรั้วที่กั้นเราออกไปหมด ทำให้เราเรียนรู้เยอะมากๆ ทั้งในเรื่องใกล้ตัวและเรื่องที่เราไม่เคยรู้ เช่น เรื่องการเมือง การเปลี่ยนแปลงของโลก จากตอนแรกที่คิดแค่ว่ามาเรียนไปวันๆ” ปั้นกล่าว
ปั้นเป็นนักเรียนคนแรกของโรงเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้เลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ตามคำแนะนำของครูปูและครูฟลุ๊ค
“เขาให้ผมเล่าสิ่งที่ชอบทำให้ฟัง แล้วบอกว่า ‘ปั้นน่าจะลองเรียนสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ดูนะ’ ทำให้ผมรู้สึกมีความกล้าที่อยากจะลองทำในสิ่งนี้ดู แต่ถึงแม้ว่าผมอาจจะไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะใช่ที่สุดสำหรับผมหรือเปล่า แต่ประโยคนี้ก็สำคัญสำหรับผมมากที่ทำให้ได้ลอง”
เรื่องราวของตะวันและปั้นไม่เพียงแค่พิสูจน์ให้เห็นพลังของการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังพิสูจน์ว่า เมื่อผู้ใหญ่เชื่อมั่นในศักยภาพของพวกเขา เด็กและเยาวชนในประเทศไทยก็พัฒนาความสามารถในแบบของตนเองได้
ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่าง “ตะวัน” และ “ปั้น” ผ่านการสนับสนุนมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา จากห้องเรียนทีละห้อง ที่นี่ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน