“ตอนเรียนม. 2 ทางโรงเรียนได้รับครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เข้ามาเป็นครั้งแรก คือครูแขและครูกอล์ฟ ผมจึงได้รู้จักมูลนิธินี้ผ่านครูทั้งสองคน”
บีทเล่าว่า แม้เขาและกลุ่มเพื่อนจะชอบทำกิจกรรมโรงเรียนมานาน แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้แปลกใหม่ มีตามประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติโรงเรียนที่สานต่อกันมา แต่หลังจากได้รู้จักครูแขและครูกอล์ฟ คำว่า ‘กิจกรรม’ ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะห้องสื่อภาษาอังกฤษที่ครูทั้งสองประจำอยู่มักมีกิจกรรมสนุก ๆ และการเรียนรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
“จากที่เคยออกไปเล่นช่วงเวลาพัก ก็ใช้เวลาว่างตรงนั้นมาพูดคุยกับครูแขครูกอล์ฟแทน เพราะได้แลกเปลี่ยนและมีกิจกรรมให้ทำตลอด ทำให้ผมได้ซึมซับกระบวนการ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิตแบบใหม่ ๆ”
“ไม่ต้องมีโทรศัพท์ก็ได้ ขอแค่มีห้องครูแขครูกอล์ฟพวกผมก็พอใจแล้ว”
อีกสิ่งที่ทำให้บีทและเพื่อน ๆ สนุกกับการไปโรงเรียนยิ่งขึ้น คือห้องเรียนของครูทั้งสองที่เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการได้ลงมือทำ ไม่ใช่จากการทำใบงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่บีทยังประทับใจไม่ลืมคือการที่ครูแขให้นักเรียนแบ่งกลุ่มไปสัมภาษณ์ชาวต่างชาติ และถ่ายวิดีโอมาตัดต่อเป็นคลิปสั้น
“กระบวนการสอนของครูแข เป็นการสอนที่ให้เด็กได้ลงมือทำและเรียนรู้ไปด้วยตัวเอง จากที่ไม่ชอบวิชานี้ กลายเป็นพวกผมชอบวิชาภาษาอังกฤษกันมาก ๆ”
”ตอนม. 3 ครูแขได้ให้นักเรียนไปลองสัมภาษณ์ชาวต่างชาติ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่สำหรับพวกผมเพราะตามปกติแล้วแทบไม่มีโอกาสได้เจอคนต่างชาติเลย และพี่แขพี่กอล์ฟไม่ได้สอนแค่คำศัพท์เท่านั้น แต่ยังสอนทักษะการตัดวิดีโอคลิปอีกด้วย“
ปัจจุบัน บีทกำลังสอบใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูและฝึกสอนที่โรงเรียนวัดสังฆราชา เขานำประสบการณ์ ทักษะ และวิธีการคิดของครูแขและครูกอล์ฟมาปรับใช้กับนักเรียนของตนเอง
“แนวคิดของครูแขครูกอล์ฟที่ผมยังจดจำมาใช้จนวันนี้ คือการให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสการเรียนรู้เท่ากัน”
”อย่างเช่น โครงการ Learners to Leaders ทุกคนมีสิทธิ์ส่งเรียงความเพื่อสมัครเข้าเหมือนกันหมด ครูแขครูกอล์ฟเข้าถึงและไม่เคยแบ่งแยกนักเรียนด้วยเกรด ไม่ว่าจะมาจากห้องเก่งหรือไม่ ก็สามารถเรียนรู้ แข่งขัน หรือเล่นด้วยกันได้ ผมก็เอาแนวคิดนี้มาใช้กับนักเรียนของผมด้วย”
“ผมไม่รู้ว่าสำหรับครูทั้งสอง โครงการนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่ผมประสบความสำเร็จได้จากโครงการนี้ครับ”
ปัจจุบัน บีทกำลังสอบใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูและฝึกสอนที่โรงเรียนวัดสังฆราชา เขานำประสบการณ์ ทักษะ และวิธีการคิดของครูแขและครูกอล์ฟมาปรับใช้กับนักเรียนของตนเอง
“แนวคิดของครูแขครูกอล์ฟที่ผมยังจดจำมาใช้จนวันนี้ คือการให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสการเรียนรู้เท่ากัน”
”อย่างเช่น โครงการ Learners to Leaders ทุกคนมีสิทธิ์ส่งเรียงความเพื่อสมัครเข้าเหมือนกันหมด ครูแขครูกอล์ฟเข้าถึงและไม่เคยแบ่งแยกนักเรียนด้วยเกรด ไม่ว่าจะมาจากห้องเก่งหรือไม่ ก็สามารถเรียนรู้ แข่งขัน หรือเล่นด้วยกันได้ ผมก็เอาแนวคิดนี้มาใช้กับนักเรียนของผมด้วย”
และแม้เวลาจะผ่านมาสิบปีแล้ว บีทยังคงติดต่อกับครูแขครูกอล์ฟ นำประสบการณ์ สิ่งที่พบเจอ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เสมอ
“ครูเขาไม่ได้เดินเข้ามาสอนแล้วออกไป แต่เป็นครูในทุก ๆ สถานที่ ทุกช่วงเวลา เป็นครูที่สอนประสบการณ์ชีวิต” บีททิ้งท้าย
ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เชื่อมั่นว่ายังมีอีกหลายคนที่มองเห็นและต้องการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย เราจึงรวบรวมบุคลากรที่เต็มไปด้วยแรงขับเคลื่อนเหล่านี้มาเป็นครูผู้จัดการสอน เช่น ครูแขและครูกอล์ฟที่นอกจากจะสร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงแล้ว ยังยึดมั่นในหลักการเดียวกับทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ที่ว่า นักเรียนทุกคนต้องมีโอกาสการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งทำให้นักเรียนของคุณครูทั้งสองสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้