เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า
March 1, 2024

ให้ผู้หญิงได้ “นำ” เพื่อทำสังคมให้เท่าเทียม

วันสตรีสากล หรือ International Women’s Day ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิง และสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิเกี่ยวกับบุตร และการต่อต้านความรุนแรงและการคุกคามผู้หญิง โดยมีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการมาหลายครั้งในอดีต และได้รับการรับรองโดยกลุ่มสิทธิสตรี และโดยองค์การสหประชาชาติในปี 1977 ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับ ส้ม ดิว ไพลิน และพี ศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ใช้บทบาททั้งความเป็นผู้หญิง และความเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสังคม ปัจจุบันพวกเธอทำงานในสายงานของผู้นำในโรงเรียน นวัตกรรมทางสังคม และนโยบายการศึกษา เราได้พูดคุยกับพวกเธอในประเด็นเรื่องการศึกษา และภาวะผู้นำของผู้หญิง

ให้ผู้หญิงได้ “นำ” เพื่อทำสังคมให้เท่าเทียม
การเป็นผู้นำหมายถึงอะไร ?

ส้ม — อมรรัตน์ สีหะปัญญา เป็นศิษย์เก่า รุ่นที่ 1 ซึ่งทำงานเป็นครู และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างเสริมสุขภาวะ (Health Promotion) ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอได้ให้นิยามผู้นำ โดยเน้นไปที่่คำว่า ‘ความเป็นไปได้’

“สำหรับส้มแล้ว การเป็นผู้นำ หมายถึง คนที่มองเห็นความเป็นไปได้ โอกาสที่จะพัฒนา มีความตื่นตัวต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจ และไม่หยุดเรียนรู้”

ในขณะที่พี ดุจรพี เชาวนปรีชา ศิษย์เก่ารุ่นที่ 3 ปัจจุบันทำงานที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มองถึงความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย “ผู้นำคือคนที่สามารถนำกลุ่มไปในทิศทางที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ โดยได้รับความเคารพ และความรักจากทีม มีการตัดสินใจที่ชัดเจนเด็ดขาด และมีทักษะการจัดการปัญหา”

ซึ่งคำตอบนี้มีจุดร่วมกับคำตอบของไพลิน วชิราภรณ์ นิรันตราภรณ์ ศิษย์เก่ารุ่นที่ 3 ปัจจุบันเป็นตัวแทนพรรคการเมือง ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำหรับเธอแล้ว การเป็นผู้นำคือการ ‘ขับเคลื่อน’ ไปสู่เป้าหมายเช่นกัน และเน้นเรื่องการขับเคลื่อนสังคม

“ในความคิดเห็นเห็นของไพลิน ผู้นำ คือ บุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนวาระทางสังคม โดยสังคมนั้นอาจจะหมายถึงครอบครัว องค์กร สังคม หรืออาจจะหมายถึงกลุ่มที่เรามีส่วนร่วมในกิจกรรม”

การเข้ามาใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ช่วยส่งเสริมภาวะผู้นำอย่างไรบ้าง ?

ดิว ธิดามาส เต็มสาร ศิษย์เก่ารุ่นที่ 2 ปัจจุบันเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านม่วง จ.ลำปาง ตอบว่า

“การทำงานที่นี่สอนให้เราตั้งวิสัยทัศน์หรือตั้งเป้าหมายในทุกๆ ครั้งที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายระดับเล็กหรือเป้าหมายระดับใหญ่ เพื่อที่เราจะได้มองเห็นภาพรวมว่าเราต้องการอะไร แล้วต้องทำอะไรบ้างให้บรรลุเป้าหมายนั้น

“อย่างเช่น ดิวเป็นครู งานของดิวคือการสอน เป้าหมายของดิวคือการให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามทักษะและความสามารถของตนเอง พอเรารู้เป้าหมายที่ชัดเจนเราจะวางแผนว่าทำอย่างไรเราถึงจะประสบความสำเร็จ โดยมองนักเรียนเป็นทีมงานของเรา”

สำหรับไพลิน ความท้าทายหลายอย่างในงานสายการเมืองทำให้เธอต้องใช้ความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ เธอเคยต้องเดินเคาะประตูบ้านทุกหลัง และพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่เพื่อให้พวกเขาเข้าใจวิสัยทัศน์ของพรรค

“ไพลินกล้าพูดได้อย่างเต็มปากมากๆ ว่า ชีวิต 4 ปี ใน TFT ทั้งตอนเป็น ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นสตาฟ มีส่วนสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้ไพลินก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้หลายๆ อย่างในชีวิต เวลาคิดอยากจะล้มเลิก และเหนื่อยมากๆ จะมีเรื่องราวของนักเรียนไว้เตือนใจเราเสมอ และทักษะที่ TFT ให้ ทำให้เราเอาตัวรอดไปได้ในทุก ๆ จังหวะจริง ๆ”

สำหรับพี การเข้ามาใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทำให้เธอมีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง

“ทักษะการเป็นผู้นำที่พีได้ คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ตอนมาสอนแรกๆ เรามักจะตั้งคำถามว่าทำไมเด็กๆ ไม่ส่งการบ้าน ทำไมไม่ตั้งใจเรียน“

“แต่เมื่อเราได้ฟังเขา เราจะพบว่าทุกอย่างมีเหตุผลเสมอ บางคนจำตัวอักษร A-Z ยังไม่ได้ แล้วเค้าจะเรียนรู้เรื่องได้ยังไง หรือบางคนพ่อแม่เป็นคนต่างชาติ อ่านไทยไม่ออก อังกฤษก็ไม่ออก จึงไม่มีคนช่วยสอนการบ้าน ก็ไม่รู้จะทำยังไง พอเราฟังอย่างลึกซึ้งก็ทำให้เรารู้ต้นเหตุของปัญหาและคอยหาทางแก้”

การศึกษาช่วยขับเคลื่อนชีวิตของผู้หญิงอย่างไร ?

การศึกษาเป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ผู้หญิงก้าวไปข้างหน้าได้ท่ามกลางสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ สำหรับส้ม การศึกษาทำให้ผู้หญิงค้นพบศักยภาพของตนเอง

“การศึกษาช่วยให้ผู้หญิงตื่นตัวต่อปรากฏการณ์ทางสังคม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและความเป็นอยู่ของผู้คนมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิต  ค้นพบศักยภาพของตนเอง  และมีชีวิตที่เป็นอิสระจากความกลัว”

สำหรับดิว การศึกษาทำให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับเพศอื่นมากขึ้น

“การศึกษาช่วยให้คนเรามีความเท่าเทียมกัน ในอดีต ผู้หญิงไม่ได้มีสิทธิ์ในการเรียนหนังสือเท่าผู้ชาย ทำให้มีภาพว่าผู้ชายเป็นใหญ่กว่า และผู้หญิงจะต้องอยู่บ้าน ทำงานบ้าน ปรนนิบัติสามี แต่ปัจจุบันสังคมเราเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนได้รับการศึกษาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็สามารถทำอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝันได้”

สำหรับไพลิน เธอมองว่าต้องพิจารณา 3 ส่วน คือ กฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และหลักสูตร

“เราจะต้องทำให้เกิดการตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราจะทำอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจว่า “ปิตาธิปไตย” (สังคมชายเป็นใหญ่) มีอยู่จริงๆ รวมไปถึงการทำให้นักเรียนสามารถตระหนักรู้ และไม่ส่งต่อวิธีปฏิบัติดังกล่าว เช่น ไม่สั่งสอนว่าผู้หญิงควรทำอาชีพอะไร ผู้ชายควรทำอาชีพอะไร พ่อคือผู้นำ แม่คือแม่บ้าน และเปลี่ยนมาเป็น การสอนให้เด็กนักเรียนเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน”

ในฐานะผู้นำ คุณกำลังขับเคลื่อนอะไรอยู่บ้างในสายงานของคุณ ?

ส้มตอบว่า “ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างเสริมสุขภาวะ (Health Promotion) ส้มต้องทำงานร่วมกับทีมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และทักษะในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกและการใช้ชีวิต โดยทำงานกับนักเรียน ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม”

ส่วนพี ได้ส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

“งานของพีคือ การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมออกมาได้ รวมถึงให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม และเผยแพร่เรื่องราวนวัตกรรมฝีมือคนไทยในผู้คนรับรู้ สถาบันของเรายังมีโครงการที่ทำขึ้นเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น หลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหญิง โครงการ ‘มะลิ : MALI’ แอปคู่ใจสตรีมีครรภ์ คลายทุกข้อกังวลช่วงมีน้อง”

ทางด้านไพลิน เธอกำลังขับเคลื่อนสังคมในฐานะนักการเมืองหญิงที่อายุน้อยที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมา

“การเป็นผู้นำของไพลิน คือ การทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เพื่อไปเป็น สส. หรือพูดง่ายๆ คือ งานที่ทำให้คนรักและเชื่อใจเรา เพื่อให้เรามีจำนวนมือในสภาไปโหวตในวาระที่เราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มากพอ จนเปลี่ยนมันได้จริง ๆ”

และสำหรับดิว งานของเธอคือการเป็นครูที่อยากขับเคลื่อนให้นักเรียนเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

“เป้าหมายของดิวคือหาวิธีการให้นักเรียนเรียนรู้ได้ตามทักษะ ความสามารถและศักยภาพของตนเอง ผ่านการวางแผนและการทำงานร่วมกับนักเรียน”

ในวันสตรีสากลนี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เชิญชวนทุกคนร่วมสนับสนุนผู้นำที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเท่าเทียมในทุกด้าน และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน การสนับสนุนของคุณจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็ก เยาวชน ผู้คนและชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทย

คุณสามารถเข้าร่วมภารกิจของเราได้ ผ่านการบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิ ฯ ที่หน้าเว็บไซต์ ร่วมสนับสนุน

สมัครโครงการ