ในโอกาสนี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ขอนำเสนอเรื่องราวของ “ชุมนุม Go to the Future” นำโดย ‘ครูโฟน’ – โสภี ธรรมวงค์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 และ ‘ครูแนตตี้’ – สิริรักษ์ คำลือ ที่โรงเรียนหนองใหญ่ศิริวรวาทวิทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นชุมนุมแนะแนวอาชีพที่ไม่เพียงให้ความรู้และแรงบันดาลใจ แต่ยังเสริมสร้างทักษะที่สำคัญ เช่น ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการทำงานร่วมกัน ให้กับเยาวชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาค
ครูโฟน เล่าถึงที่มาที่ไปของชุมนุม Go to the Future ไว้ว่า “บางทีเรามักจะถามคำถามง่ายๆ ว่า โตขึ้นเด็กๆ อยากเป็นอะไร ซึ่งหลายๆ ครั้งเด็กยังไม่ค่อยรู้จักว่าอาชีพที่อยากทำมีอะไรบ้าง หรือยังไม่รู้จักอาชีพในปัจจุบัน เด็กบางคนไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิตเลยไม่ค่อยตั้งใจเรียน เพราะรู้สึกว่าเรียนไปก็ไม่ต้องใช้”
“เราเลยเห็นข้อจำกัดด้านทรัพยากร สถานภาพครอบครัว บริบทรอบตัวนักเรียน และองค์ความรู้ของเด็กในตรงนี้ ซึ่งส่งผลให้นักเรียนไม่รู้จักอาชีพที่มีหลากหลายมากในปัจจุบัน จริง ๆ แล้วเขาอาจจะมีจุดแข็งและไปได้ไกลกว่าที่เขาเคยคิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งชุมนุม Go to the Future”
“จากที่เฟิร์สพบเจอ พื้นฐานของนักเรียนด้านวิชาการยังไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ รวมถึงส่วนมากพ่อแม่แยกทางกัน อาจต้องค่อยๆ ปรับกันไป โดยโครงการ Go to the Future นี้ ช่วยมาตอบโจทย์อะไรหลายอย่าง” ‘ครูเฟิร์ส’ – เสฎฐวุฒิ สิทธิพงศ์ ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 10 ผู้ช่วยสนับสนุนชุมนุมกล่าว
ในการดำเนินกิจกรรมของชุมนุม ครูผู้นำฯ จะติดต่อกับบุคคลที่ทำอาชีพต่างๆ มาให้ข้อมูลอาชีพ ลักษณะงาน ทักษะที่ต้องมี และสายการเรียนที่จะนำมาสู่อาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงตอบคำถามที่นักเรียนสมาชิกชุมนุมสงสัยโดยตรง โดยมีการบันทึกวิดีโอเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ค Go to the Future เพื่อขยายผลให้เยาวชนคนอื่น ทั้งในและนอกโรงเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วย
“ช่วงแรกก็หวั่นๆ อยู่ว่าจะเปิดต่อดีไหม แต่พอได้รับ feedback กลับมา ค่อนข้างที่จะดี เพราะว่าชุมนุม Go to the future เปิดโลกทางอาชีพให้กับเด็กๆ ทำให้เขาเริ่มมีทางเลือกในการตอบคำถามว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ มากขึ้น” ครูโฟนเล่า
ครูแน็ตตี้ได้สะท้อนว่า “รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้จัดชุมนุมนี้ ผลลัพธ์ที่เห็นชัดเลย คือนักเรียนได้รู้ว่ามันมีอาชีพต่างๆ มากขึ้น แล้วนั่นทำให้เขามีเป้าหมายชีวิต ตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น และใส่ใจให้ตัวเองเรียนให้จบ มีผลการเรียนที่ดีเพื่อจะไปประกอบอาชีพ และมีความคิดที่จะไปไกลกว่าตนเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
“ส่วนครู ก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปกับเด็กๆ ด้วย ก็มีหลายอาชีพที่เราเองก็อาจไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจเท่าไหร่ แต่พอเราได้ข้อมูลเพิ่ม เราก็สามารถแนะนำเด็กคนอื่นๆ ต่อได้ ทั้งในส่วนของอาชีพและเส้นทางการเรียนรู้”
ในช่วงแรก ครูผู้นำฯ เป็นผู้เลือกวิทยากร แต่เมื่อนักเรียนเริ่มมีแรงบันดาลใจและความสงสัยใคร่รู้ ก็เริ่มขอให้ครูเชิญบุคคลจากอาชีพที่หลากหลายขึ้น เช่น นักสร้างคอนเทนท์ (content creator) เภสัชกร นักวิจัย และนางแบบ นักเรียนหลายคนได้ทั้งแรงบันดาลใจในการเรียนต่อ การริเริ่มทำตามความฝัน ไปจนถึงปรัชญาการใช้ชีวิต
‘น้ำ’ เล่าว่า “หนูเข้าชุมนุมมาเพื่อดูว่ามีอาชีพอะไรที่ยังไม่รู้จัก เพราะอีกไม่นานก็ต้องเข้ามหาวิทยาวิทยาลัย อยากวางแผนได้ถูก ซึ่งพอเข้าชุมนุมมาแล้วก็เห็นว่าตัวเองมีอาชีพที่ชอบหลายอย่าง ที่ชอบที่สุดคงอยากเป็นเภสัชกร เพราะชอบวิชาเคมี ตอนนี้รู้สึกตื่นเต้น อยากลองทำ อยากเรียนจบแล้วค่ะ”
“หนูสังเกตเห็นว่า เมื่อเราได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ มันก็จะมีกำลังใจทำงาน และเป็นอาชีพได้” ‘ยา’ สะท้อนถึงแนวทางเลือกอาชีพที่ชอบ ที่ตกตะกอนได้จากกิจกรรมในชุมนุม
ส่วน ‘จิ๋ว’ สะท้อนถึงการค้นพบศักยภาพของตนเองด้วยจากการพูดคุยกับวิทยากรว่า “หนูเข้าชุมนุมนี้เพราะตอนแรกยังไม่มีเป้าหมาย อยากหาเป้าหมายของตนเอง อยากรู้จักอาชีพใหม่ๆ อย่างอาชีพที่หนูรู้สึกประทับใจคือ TikToker ซึ่งหนูมองว่าการขายสินค้าต่างๆ บน TikTok เป็นอาชีพที่หนูทำได้เลยตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ หนูได้เห็นว่าตัวหนูเองคล้ายพี่ (วิทยากร) มี energy มากพอที่จะเป็น TikToker ได้ค่ะ”
‘น้ำ’ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของชุมนุมนี้ว่า “ถ้าไม่มีชุมนุมนี้ ก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร ที่จะได้ถามคำถามคนที่ทำอาชีพนั้นจริงๆ หรือจะได้เห็นภาพตัวเองจริงๆ”
ชุมนุม Go to the Future เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 โดย ‘ครูกิ่ง’ – ยุพารัตน์ ภู่ดัด ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 8 ‘ครูโฟน’ ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 9 และ ‘ครูแนตตี้’ ซึ่งเป็นครูในโรงเรียน โดยได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากทั้งครูในโรงเรียน และเยาวชนที่ติดตามเพจ Go to the Future นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองจำนวนมากอยากให้ลูกหลานเข้าร่วมชุมนุมนี้อีกด้วย
“ในอนาคต เราอยากจะพัฒนาต่อยอดกิจกรรมโดยให้เด็กๆ ได้สัมผัสประสบการณ์และสถานที่ทำงานจริงของอาชีพนั้นๆ ก็จะเห็นบริบทของการทำงาน ทำให้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบการทำงานแบบนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราอยากให้เกิดขึ้น” ครูโฟนกล่าว
“จะดีมากเลย หากเราได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสายอาชีพในศตวรรษที่ 21 เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของอาชีพและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองสัมผัสอาชีพนั้นจริงๆ เช่น นักเล่นเกม (gamer) อาจจะเข้ามาช่วยให้น้องๆ ได้รู้จักอาชีพนักกีฬา E-Sport จริงๆ เป็นต้น”
การศึกษา ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของอาชีพครูเพียงอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมผลักดันการศึกษาคุณภาพเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะที่สำคัญให้กับเด็กและเยาวชนในประเทศไทย เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง ที่นี่