สร้างความเป็นไปได้ เพื่อให้เด็กไทยเป็นพลเมืองโลก

ปัจจุบัน แฟร์ วรชาภา บรรยงคิด ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 3 ทำงานต่อในฐานะครูวิชาคณิตศาสตร์บูรณาการที่โรงเรียนรุ่งอรุณ การเดินทางต่อในสายการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่อยู่ในใจแฟร์ตั้งแต่สมัครเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความรู้และแรงบันดาลใจที่ติดตัวแฟร์จากระยะเวลา 2 ปีในโครงการ ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่แฟร์ทำให้เกิดในเส้นทางการศึกษามากขึ้น

“เราตอบตัวเองตั้งแต่สมัครเข้า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ว่าสายงานที่อยากใช้เวลามากที่สุดคือการพัฒนาคน เราอยากพัฒนาคนตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะเด็กจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และคนหนึ่งคนจะส่งต่อเรื่องราว สังคม และพื้นที่ดี ๆ ต่อไปอีก”

     เมื่อถามว่า ทำไมต้องเป็นการศึกษา แฟร์ตอบว่า

     “เพราะการศึกษาเป็นปมในใจของใครหลายคน เราไม่อยากให้เด็กโตมากับความขาดแคลนด้านนี้ และอีกอย่างคือ เชื่อว่าเราโตมากับครูดี ๆ สังคมดี ๆ ทำให้เรารู้สึกโชคดีมาก  ทั้งที่จริง ๆ สิ่งนี้ควรเป็นความต้องการพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ”

     สำหรับแฟร์ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีผลต่อการทำงานด้านการศึกษาต่อของเธออย่างมาก เพราะช่วยเปิดมุมมองและทำให้เห็นภาพการศึกษาที่เป็นจริง ๆ

     “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทำให้เราเห็นเส้นทางทางการศึกษา เห็นปัญหาของการศึกษาจากมุมมองของคนวงใน มากกว่ามุมของเด็กนักเรียนที่เคยเป็นมาตลอด และยังเชื่อมโยงเราเข้ากับผู้คนที่มีใจด้านนี้ ทำให้มีแรงอยากทำตรงนี้ต่อ  ถ้าไม่มีใครอยากเปลี่ยนและทุกคนทำเหมือน ๆ กัน การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะจะหมดไฟได้ง่าย”

     ความเปลี่ยนแปลงที่แฟร์ได้สร้างระหว่างเป็นครูผู้นำฯ มีทั้งการสร้างแรงบันดาลใจ และกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการให้นักเรียนแก้ผลการเรียนด้วยเกม Arena of Valor (RoV)

     “เราเชื่อว่าเราเข้าไปจุดประกายบางอย่างให้กับครูในโรงเรียน จนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อกับครูเหล่านั้นอยู่ มีครูที่อยากเป็นครูรุ่นใหม่ แต่ด้วยระบบทำให้เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ พอเราเข้าไป ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำอยู่คนเดียว มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากกว่าในห้องเรียน หรือมากกว่าการเรียนตามหนังสือ  ตอนนี้ครูท่านนั้นก็ยังพยายามต่อไป ทำให้ห้องเรียนเป็นที่ที่สนุก และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน”

     “เรายังได้ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ทำให้ครูในโรงเรียนเห็นว่าเขาไม่ต้องทำวิธีการเดิม ๆ เพื่อชนะใจเด็ก เช่น โครงการแก้เด็กติดศูนย์ ติด ร. ด้วยการแข่ง RoV  คือเราจัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา โดยคนที่มาเข้าร่วมต้องไม่ติดศูนย์ หรือติด ร. เด็ก ๆ ก็ชวนเพื่อไปแก้ไขผลการเรียนเพราะอยากให้มาเข้ากับทีมเพื่อร่วมแข่งด้วย”  

     “เราทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ สามารถเล่นเกมได้ตราบใดที่เขายังแบ่งหน้าที่ตัวเองได้ดี และเป็นการแก้ทัศนคติเดิม ๆ ว่า การเล่นเกมไม่ดี อีกด้วย” แฟร์ยิ้มอย่างภูมิใจ “และครูก็เห็นว่าการแก้ศูนย์ แก้ ร. ทำได้มากกว่าวิธีการที่เคยใช้”

     แฟร์ยังให้ผู้ชนะการแข่งขันได้ทานข้าวร่วมกับนักกีฬา e-sport และผู้พัฒนาเกมระดับประเทศ ทำให้เด็ก ๆ ได้แรงบันดาลใจว่า เส้นทางอาชีพในอนาคตยังมีความเป็นไปได้มากมายรอพวกเขาอยู่

     แฟร์ยังได้ร่วมการถ่ายคลิปวิดิโอกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเธอสอนให้คุณแม่ที่กดดันลูก และคาดหวังในตัวลูกเยอะเกินไป ปรับเปลี่ยนทัศนคติไปในเชิงบวกมากขึ้น

     ปัจจุบัน การเป็นครู คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

     “เราเป็นครู และอยากทำให้นักเรียน 80-90 คนที่เราดูแลอยู่โตไปเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen)” แฟร์บอก “มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนเช่น TED Club เพื่อให้นักเรียนได้มีเวทีพูดคุยแสดงออก จากความตั้งใจที่อยากส่งต่อพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ มากที่สุด”

     “คำว่า Active Citizen ก็คือพลเมืองของโลก ที่สามารถสร้างคุณค่าให้สังคมในเรื่องที่เขามีความสุข ตามความถนัดของตนเอง”

     ด้วยพันธกิจนี้ แฟร์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนักเรียนที่เธอดูแล ในแนวทางที่สอดคล้องกับวิธีคิดของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เชื่อว่า วันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะเป็นพลเมืองที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ชุมชน และสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่  เพราะพวกเขาได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม

     “เราเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ก็จริง แต่ก็ได้สร้างความเป็นไปได้ขึ้น ห้องเรียนที่ไม่มีเราก็อาจทำให้สิ่งแวดล้อมดี ๆ สำหรับเพื่อนครูคนอื่นและนักเรียนหายไป” แฟร์ทิ้งท้าย