เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า
December 14, 2024

การเรียนรู้ที่ไม่รู้วันสิ้นสุด: หลากประสบการณ์สู่บทบาท “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

“คำว่า ‘ครูผู้นำฯ’ ม่สำคัญว่าเราจะเคยมีประสบการณ์หรือมีอายุเท่าไหร่ หากเรารักการเรียนรู้และได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง เราก็เป็นผู้นำในแบบของตนเองได้” – ครูมิ้ง อรุณรัชช์​ เศว​ตประวิชกุล ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11

การเรียนรู้ที่ไม่รู้วันสิ้นสุด: หลากประสบการณ์สู่บทบาท “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

จากงานวิศวกรรม งานสอน และจิตอาสาขณะอยู่ต่างประเทศ สู่การเริ่มต้นธุรกิจท่องเที่ยวหลังกลับไทย และการใช้ชีวิตในวัยทดลอง “เกษียณ” ด้วยการเดินทางกว่า 9,000 กิโลเมตรใน 90 วันเพื่อพักผ่อน พบปะเพื่อนเก่า รู้จักเพื่อนใหม่ เป็นครูอาสาในเขาใหญ่และหลวงพระบาง (สปป.ลาว) เดินรอบเกาะสมุย และนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ไปเบตง เพื่อตอบคำถามสำคัญในชีวิตของครูมิ้ง:

“เราจะทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นและตนเองได้บ้าง?”

“ผมมีความสุขที่สุดเมื่ออยู่ในห้องเรียน ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน” ครูมิ้งสะท้อนคำตอบของตน เขาเชื่อว่าความสุขนี้นำไปสู่การได้รู้จักกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระบบการศึกษาไทย

แม้กระบวนการคัดเลือกจะเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งการปรับพื้นฐานความรู้และฝึกทักษะใหม่ๆ  แต่ครูมิ้งกลับมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่สนุกและเติมเต็ม

“เคยสงสัยนะว่ากระบวนการคัดเลือกมีหลายขั้นตอน​มาก ทำไมแบบสอบถามละเอียดจัง ทั้งการสัมภาษณ์ถึงสองรอบ ต้องทำแบบทดสอบรายวิชา และต้องทดลองสอนด้วย” ครูมิ้งเล่า

“แต่ผมรู้สึกสนุกและตื่นเต้น เพราะเข้าใจว่าการที่จะต้องส่งคุณครูเข้าไปทำงานในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทาย ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ต้องการคนที่มีความตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องเป็นคนที่กล้าฝ่าฟันและอดทนต่ออุปสรรค”

สำหรับครูมิ้ง เส้นทางสู่การเป็นครูนั้นเต็มไปด้วยความสนุกและความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากนักเรียนและเพื่อนต่างวัย การเขียนแผนการสอน​ การสะท้อนคิดจากที่ปรึกษาและเพื่อนร่วมโครงการฯ หรือการปรับตัวกับการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ แต่ครูมิ้งเชื่อเสมอว่า การลงมือทำและเผชิญความท้าทายทำให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มามากขึ้น

“การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก เราไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนน้องๆ รุ่นใหม่หรือทำได้ดีทุกอย่าง แต่มองว่ามันคือโอกาสที่จะสัมผัสประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้” ครูมิ้งกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

“ในห้องเรียนของผมมีนักเรียนจากครอบครัวชาวกัมพูชาอยู่ ผมพยายามเรียนรู้ภาษาของเขาเพื่อสร้างความเข้าใจลึกซึ้ง รวมถึงการจำชื่อทุกคนในสัปดาห์แรก เพราะการเรียกชื่อถูกต้องทำให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง”

ครูมิ้ง ยังทิ้งท้ายว่า “คำว่าผู้นำหมายถึงคนที่เริ่มลงมือทำเพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่ต้องรอว่าเป็นหน้าที่ของคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่มันคือหน้าที่ของทุกคน รวมถึงตัวเราด้วย ขอแค่เราเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่และเริ่มลงมือทำเราก็เป็นผู้นำในแบบของตนเองได้”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผู้นำที่พร้อมเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ผ่านการสนับสนุนหรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

เพื่อสักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตัวเองได้ในที่สุด

สมัครโครงการ