เรื่องเล่าจากห้องเรียน
December 14, 2024

เสริมชุมชนแกร่ง เปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษา

“นักเรียนเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพชีวิตดี มีชุมชนร่วมส่งเสริมโอกาสภายใต้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน” นี่คือวิสัยทัศน์ร่วม (Collective Vision) ของโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมพลังของผู้มีส่วนร่วมในชุมชน ทั้ง ผู้บริหารโรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่อนามัย ตำรวจ และนายกเทศบาล ร่วมกันออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อเยาวชนในพื้นที่

เสริมชุมชนแกร่ง เปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษา

มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้ความสำคัญแก่การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในชุมชน เพราะการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการศึกษาของชุมชนจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความเสมอภาคการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และช่วยให้นักเรียนค้นพบเส้นทางชีวิตของตนเอง

“ครูต้องตา” – ณพสิษฐ์ จักรพาณิชย์ และ “ครูปิ่นปัก” – อรรัมภา นิลสนธิ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 ได้สานต่อพันธกิจนี้ โดยเชื่อมประสานโรงเรียนกับหน่วยงานต่างๆ และสนับสนุนกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ร่วม เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนและยั่งยืน

หนึ่งในตัวอย่างของผลลัพธ์ดังกล่าวคือ กิจกรรมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะด้านอาชีพและมองเห็นอนาคตตัวเองได้ชัดเจนขึ้น

“จากโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครั้งแรก เราพบว่านักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ได้ฝึกงานในโรงพยาบาลรู้ตัวว่าไม่ชอบงานนี้เลย เป็นเครื่องการันตีว่านักเรียนได้ค้นพบตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เขาตามเพื่อนจริงไหม ซึ่งทำให้เขาสามารถเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองได้ในอนาคต” ครูต้องตากล่าว

เพื่อสร้างความยั่งยืน ครูต้องตาและครูปิ่นปักได้หารือกับผู้บริหารโรงเรียนถึงแนวทางสนับสนุนให้กิจกรรมนี้กลายเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อดีตผู้อำนวยการ นายสมคิด เจริญสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณและแผน นายวานิช ยาเพ็ชรน้อย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารวิชาการ นางสาวอภิญญา ยอดนิล ครูภัทรารักษ์ พลพจนารถ และครูณัฐมน กองเส็ง

“เราพบว่านักเรียน ม.4 ถึง 88.6% อยากฝึกงานตามรุ่นพี่ คำบอกเล่าก็จะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นตามมา” ครูต้องตาเสริม

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของการตระหนักรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องด้วย จึงจะเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

“เมื่อโรงเรียนริเริ่ม ชุมชนจะเริ่มเห็นโอกาสการพัฒนาตนเอง คนในชุมชนก็เริ่มเห็นว่าลูกหลานรู้จักตนเองและประกอบอาชีพในชุมชนได้ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG ด้านที่ 4 คือการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและช่วยลดช่องว่างด้านการศึกษา”

เรื่องราวของโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์คือเครื่องยืนยันถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่มากไปกว่าการตระหนักถึงความสำคัญ แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนอย่างแท้จริง ที่ทุกฝ่ายในชุมชนได้ร่วมลงมือทำ จนเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เกิดจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผู้นำที่พร้อมเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ผ่านการสนับสนุนหรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

เพื่อสักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตัวเองได้ในที่สุด

สมัครโครงการ