เรื่องเล่าจากห้องเรียน
April 4, 2025

“มละบริ” ชาติพันธุ์ ความฝัน การศึกษา

ด้วยความเชื่อที่ว่า “เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” VGI ผู้นำการตลาด O2O โซลูชั่นส์ จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษา เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ เช่นการสนับสนุนพื้นที่สื่อบนรถไฟฟ้า BTS ให้กับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เมื่อเดือน ก.พ. - มี.ค. ที่ผ่านมา

“มละบริ” ชาติพันธุ์ ความฝัน การศึกษา
“เวลาหน้าร้อนก็จะเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งกัน ดำน้ำยิงปลากันครับ ทำเป็นทุกคน”

ขุน - กิตติคุณ คนธพฤกษ์  และ พล - ยุทธนา เจริญคีรีพนา นักเรียนโรงเรียนบ่อเกลือ จ.น่าน เล่าถึงกิจวัตรช่วงหน้าร้อนที่เด็กๆ ชาว “มละบริ” ในหมู่บ้านนากอกทำประจำ

เดิมที “ชาวมละบริ” อาศัยอยู่ในป่า และใช้ “ภาษามละบริ” เป็นภาษาหลักของตนเอง

ด้วยกำแพงภาษา การเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศีกษาร่วมกับเด็กคนอื่นจึงเป็นความท้าทายไม่น้อย แม้ทั้งสองจะตั้งใจและชอบการมาโรงเรียนอย่างมาก

“ผมชอบมาโรงเรียนเพราะได้ทำเวรและทำการบ้านเสร็จไวกว่าเด็กในหมู่บ้าน” ขุนบอก “วิชาที่ชอบก็จะมีภาษาไทย ศิลปะ พละ ที่พอได้บ้างคือคณิต ท่องสูตรได้ แต่ไม่ถนัดเรื่องลบและหารครับ”

“พวกผมพูดไม่ค่อยเก่ง แต่ชอบมาโรงเรียนเพราะได้เจอเพื่อนๆ” พลเสริม

สิ่งที่ทั้งสองรู้คือต้องตั้งใจเรียนเพราะหวังว่าจะเรียนให้ถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนมละบริทุกคนในโรงเรียนบ่อเกลือตั้งใจไว้ แม้จะไม่แน่ใจวิธีการก็ตาม

นักเรียนทั้งชาวไทยและมละบริ ทำกิจกรรมในวิชาลูกเสือด้วยกัน

“แรกๆ เราไม่รู้เลยว่าทั้งสองคนเป็นชาติพันธุ์มละบริ แต่สังเกตได้ว่าพวกเขาเรียนช้ากว่าเพื่อน” ครูคุญ ครูเกด และครูแสตมป์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 10 สะท้อนถึงความท้าทายของนักเรียนทั้งสอง

“นักเรียนชาติพันธุ์ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้เข้าใจและอ่านเขียนภาษาไทยกลางได้” ไม่ต้องพูดถึงภาษาอื่นๆ เช่น คำเมือง (ภาษาถิ่นภาคเหนือ) ที่เอาไว้ใช้พูดกับเพื่อนในโรงเรียน หรือวิชาภาษาอังกฤษที่ท้าทายพวกเขายิ่งขึ้นไปอีก

“เราจะผลักดันยังไงให้เขาไม่ต้องเป็นคนชายขอบ ไม่ได้แปลกแยก แต่ในขณะเดียวกันก็ค้นหาเอกลักษณ์ตัวตน และวางตัวเองในสังคมได้”

ครูเกด ครูคุญ และครูแสตมป์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ครูผู้นำฯ ทั้งสามไม่ใช่คนเพียงกลุ่มเดียวที่มองเห็นอุปสรรคการเรียนรู้ของนักเรียนชาวมละบริ เพราะครูในโรงเรียน ครูหอพัก และผู้นำชุมชน ต่างมีส่วนร่วมในแบบของตนเอง เพื่อตอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนบ่อเกลือ

เริ่มจากปรับเนื้อหาให้ง่าย เข้าถึงนักเรียนมากขึ้นผ่านการจัดกิจกรรมแข่งขันในชั้นเรียน และสอนเสริมบางวิชาท้ายคาบเรียนเพื่อให้ขุนและพลเรียนทันเพื่อนๆ ครูหอพักก็จะชวนนักเรียนจากหลากหลายพื้นเพทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกัน

“(ในหอพัก) เราใช้ระบบพี่สอนน้อง ให้นักเรียนมละบริในหอพักแนะนำสอนกันเองก่อนว่าจะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมโรงเรียนยังไง” ครูโบว์ - ดวงฤดี บุญเทพ ครูประจำหอพักเล่า

พี่ติ๊ก - อรัญวา ชาวพนาไพร ชาวมละบริคนแรกที่เรียนจบปริญญาตรีและผู้นำชุมชนบ้านนากอก ก็ช่วยเป็น กระบอกเสียงให้ชาวมละบริเห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนภายนอกได้

“โลกมันไปข้างหน้า เราเองก็จะอนุรักษ์วิถีของมละบริไว้ แต่ก็ต้องปรับตัวให้ทันโลก การเรียนรู้มันไม่ควรที่จะหยุด” พี่ติ๊กกล่าวทิ้งท้าย

ลูกเสือและเนตรนารี โรงเรียนบ่อเกลือ เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ

เรื่องราวของขุน พล และชุมชนบ้านนากอก อ.บ่อเกลือ จ.น่าน สะท้อนถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน โรงเรียน ครู ครูผู้นำฯ และนักเรียน ที่มุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้ที่เสมอภาคให้กับเด็กทุกกลุ่ม ด้วยความเชื่อที่ว่า การศึกษาคือโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสังคมให้ดีขึ้นได้

ร่วมสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสการศึกษาที่เสมอภาค ที่: partnerships@teachforthailand.org

บทความโดย น.ส. วรัทยา ไชยศิลป์ ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
และเจ้าหน้าที่พัฒนาความเป็นผู้นำส่วนภูมิภาค

สมัครโครงการ