เรื่องเล่าจากห้องเรียน
December 14, 2024

พลิกโฉมการศึกษา พัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน

จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทยกำลังเผชิญ “ปัญหาทักษะพื้นฐานของเยาวชน” อันประกอบไปด้วยทักษะการเขียนและการอ่านพื้นฐาน (foundational reading literacy) ทักษะทางด้านดิจิทัล (foundational digital skills) และความฉลาดทางอารมณ์​และสังคม (foundational socio-emotional skills) ซึ่งการขาดทักษะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20.1% ของ GDP ในปี 2022

พลิกโฉมการศึกษา พัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน

โดยรัฐบาลไทยดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นทักษะพื้นฐานมากขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือการพัฒนา ระบบการเรียนรู้แบบกระจายอำนาจ ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น ผ่านการจัดตั้งสถาบันประสานงานในระดับจังหวัด การลงทุนพัฒนาทักษะตั้งแต่วัยเด็ก และการดึงศักยภาพของภาคเอกชนมาร่วมแก้ปัญหา

ตัวอย่างความสำเร็จการสร้างความร่วมมือเชิงพื้นที่ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือโครงการ TSQM-A (Teacher and School Quality Movement: Area) ซึ่งมีศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ “อ้วน” – ณรงค์ชัย เต็นยะ และ “โฟม” – ชิวาพร กาญจนคช เป็นผู้บริหารโครงการ (Project Manager) ในจังหวัดศรีสะเกษ

โครงการ TSQM-A มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างกลไกพื้นที่ในจังหวัด โดยทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้” เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

“ตอนที่เราเป็นครู เราเห็นแค่ผลลัพธ์ในห้องเรียน แต่พอทำงานในระดับจังหวัด เราเห็นภาพกว้างขึ้นว่าเด็กจะเปลี่ยนได้จริงเมื่อผู้ใหญ่รอบตัว เช่น ครู ผู้อำนวยการ หรือศึกษานิเทศก์ เปลี่ยนไปด้วย” อ้วนกล่าว

ด้วยความเชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเกิดจากความรู้สึกเป็นเจ้าของและการมีเป้าหมายร่วม อ้วนและโฟมจึงใช้แนวทางการทำงานเชิงสร้างสรรค์กับผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก เช่น การจัดเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีคิด และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้น เพื่อให้ผลลัพธ์ของกระบวนการเหล่านี้ไปงอกงามที่ตัวนักเรียน

“เราทำงานกับคนที่เป็นระบบนิเวศรอบตัวเด็ก เหมือนกับการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ุให้เจริญงอกงามอย่างยั่งยืนอยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งทำให้ตอนเข้าพื้นที่เยี่ยมโรงเรียน เราพบว่าทั้งผู้อำนวยการ คุณครู และนักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง” โฟมกล่าวเสริม

อ้วนและโฟมใช้แนวทาง Developmental Evaluation (DE) เพื่อพัฒนาโรงเรียน โดยการชวนผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมสะท้อนความต้องการ ความคิดเห็น และแง่มุมที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันออกแบบภาพอนาคตของเมือง (จังหวัด) ทำให้เกิดการสร้างเป้าหมายร่วมกันขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากความรู้สึกเป็นเจ้าของและเป้าหมายที่ชัดเจน กระบวนการที่เราสร้างขึ้นช่วยให้ทุกคนเห็นคุณค่าในมุมมองของตัวเอง และสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ที่ร่วมมือกันเพื่อเด็ก” อ้วนอธิบาย

“ท้ายที่สุดแล้ว วัฒนธรรมแบบใหม่นี้จะทำให้ผู้ใหญ่ได้พัฒนาตนเอง และนักเรียนก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วย” โฟมเสริม

นอกจากนี้ ทั้งสองยังเชื่อว่าการพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยและประถมศึกษา จะส่งผลให้นักเรียนเป็น “นักเรียนรู้” คือมีทักษะด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning skills) การพัฒนาเด็กปฐมวัยยังช่วยลดปัญหาช่องว่างด้านทักษะพื้นฐานได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อีกด้วย

“ช่วงปฐมวัยถึงประถมศึกษาเป็นเวลาที่เด็กกำลังสร้างตัวตน เราต้องเน้นพัฒนาทักษะ 3 ด้าน คือ ความคิด (Head) การลงมือทำ (Hand) และความสุขในการเรียนรู้ (Heart) หากเริ่มสายเกินไป เด็กจะขาดพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้ในอนาคต”

ผลลัพธ์ที่งอกงามจากการสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้” ที่เริ่มตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่รอบตัว คือเหตุผลที่ทำให้อ้วนและโฟมยังคงทำงานด้านนี้ด้วยความมุ่งมั่น

อ้วนและโฟมทิ้งท้ายว่า แม้ความท้าทายยังคงมีและอาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีในห้องเรียน “แต่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาคือการสร้างพลเมืองของประเทศที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เป็นฟันเฟืองเล็กๆ เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตไทย”

การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมสนับสนุนภารกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยและสร้างอนาคตที่มั่นคง ผ่านการสนับสนุนหรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

เพื่อสักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตัวเองได้ในที่สุด

สมัครโครงการ