สถิติจาก UNICEF U-Report Thailand เผยว่า กว่า 63% ของเยาวชนไทยมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นฐานหรือไม่มีเลย และเกือบทุกคนแสดงความไม่แน่ใจในการรับมือปัญหาที่ตามมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเกิดการสูญเสียทางการเกษตรมากถึง 15-50% ภายในปี 2030 (ธนาคารโลก)
นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เด็กไทยจำเป็นต้องมีทักษะที่เทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น ความคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน หรือแม้กระทั่งความรู้ด้านการเงิน ซึ่งจากผลการวัดระดับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) เมื่อปี 2566 ในด้านความคิดสร้างสรรค์และความรู้ด้านการเงินพบว่า เด็กในประเทศไทยหลายกลุ่มยังขาดทักษะเหล่านี้ และมีผลการประเมินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) โดยผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์อยู่ที่ 20.9 จากค่าเฉลี่ย 33 และยังไม่ปรากฏผลการประเมินด้านความรู้ด้านการเงิน อันจะทำให้เด็กไทยมีโอกาสสูญเสียการเข้าถึงอาชีพที่ดีในอนาคตได้
ทินี – ฐิตาพร สุดเจียดี เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กล่าวถึงความน่ากังวลของการขาดการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบตลาดแรงงานว่า
“มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิดนะ โลกมันเปลี่ยนเร็ว ตอนนี้ระบบการศึกษาก็ไม่ได้บรรจุทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างชัดเจน และไม่ได้เสริมสร้างการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเช่น ความคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานร่วมกับผู้อื่นไว้อย่างเพียงพอ ซึ่งเราก็พยายามเชื่อมโยงให้ทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวข้องกับเด็ก นักเรียนก็ควรที่จะได้รับรู้ในสิ่งนี้ รวมถึงคุณครูด้วย เพื่อให้คุณครูเตรียมบทเรียนให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และนักเรียนจะได้รู้ว่าสิ่งที่เขาควรที่จะสนใจคืออะไร เพื่อที่จะรับมือได้จริงๆ”
ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ริเริ่มโครงการ “Future Ready” และ “Environmental Education” อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวปี 2024 – 2026 เพื่อรับมือปัญหาใหญ่ทั้ง 2 ประการ ผ่านการเตรียมความพร้อมของนักเรียน ครู และชุมชน ให้เข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะให้พวกเขารับมือความท้าทายใหม่ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ได้
โครงการ “Future Ready” เน้นการเตรียมนักเรียนให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการรับมือความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลายเหตุปัจจัย โดยเฉพาะการพัฒนาของเทคโนโลยี และความจำเป็นในการพัฒนาทักษะที่มากกว่าการเรียนรู้ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว
ทินีได้เสริมว่า “ณ ปัจจุบันเด็กที่เข้าถึงการศึกษาคุณภาพก็มีไม่เยอะอยู่แล้ว ส่วนเด็กที่เข้าไม่ถึงก็ยิ่งห่างไกลการได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในอนาคต เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การปรับตัว การทำงานร่วมกันกับบุคคลที่มาจากหลากหลายพื้นเพ ซึ่งยิ่งทำให้เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแบบทวีคูณ เรื่องนี้เลยเป็นเรื่องเร่งด่วน”
โครงการ Future Ready จึงเน้นพัฒนาความตระหนักในอนาคต การรู้จักตนเอง และทักษะการแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่นของนักเรียน รวมถึงความรู้ด้านการเงินเพื่อวางแผนการเงินสำหรับอนาคต โดยเชิญชวนให้ครูได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานผ่านการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ และส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักรู้ในประเด็นดังกล่าว ผ่านประสบการณ์จริงและการพัฒนาทักษะผ่านการลงมือทำโครงการที่สอดคล้องกับชีวิตและชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงครูผู้นำฯ กับองค์กรท้องถิ่นและระดับชาติ เชื่อมต่อระหว่างการศึกษากับตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ส่วนโครงการ “Environmental Education” เน้นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในหมู่นักเรียน ผ่านการพัฒนาครู และสร้างชุดเครื่องมือการเรียนการสอน (teaching package) ที่ช่วยให้ครูผู้นำฯ ผสานเนื้อหาทักษะที่จำเป็น ซึ่งจะทำให้นักเรียนเป็นผู้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
ซึ่งก่อนที่ครูผู้นำฯ จะดำเนินกิจกรรมการสอนให้นักเรียนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์จะจัดการอบรมที่เน้นการนำมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมมาจัดการกับความท้าทายในชุมชน และความสำคัญของการส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมศักยภาพ องค์ความรู้ ทักษะ และความเป็นผู้นำให้นักเรียน เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม แต่เราเก่งด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำ เราจึงเน้นทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เริ่มดำเนินการนำร่องก่อนเป็นเวลา 3 ปี และใช้ข้อมูลหลักฐานจากคุณครูและเด็กนักเรียนในการเฟ้นหาสิ่งที่ทำแล้วดี ทำแล้วได้ผล เพื่อที่จะแบ่งปันให้กับสังคมได้รับรู้ และนำไปขยายผลต่อไปในภาคส่วนอื่น ๆ” มิว – วัชร เดโชพลชัย ผู้จัดการด้านข้อมูลและผลกระทบเชิงบวกของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และผู้ริเริ่มโครงการทั้งสอง เล่า
“ทั้งสองโครงการเกิดจากกระบวนการมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีผ่านมา และการวางแผน 10 ปีข้างหน้าของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ว่าเราอะไรทำได้ดี อะไรเป็นช่องว่างที่สามารถพัฒนาต่อได้” มิวอธิบาย
“เราพบว่าครูผู้นำฯ มีแรงบันดาลใจในการลงมือทำมาก และได้ผลลัพธ์เชิงผู้นำที่น่าพึงพอใจ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความเป็นผู้นำของนักเรียนยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แม้ว่าเขาจะพัฒนาความรู้ ทักษะและทัศนคติ (mindset) บางอย่างแล้วก็ตาม”
มิวพูดถึงข้อสังเกตจากประสบการณ์ตั้งแต่เป็นครูผู้นำฯ รุ่นแรกว่า
“สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่การศึกษายังเหมือนเดิม ทั้งในแง่การเตรียมความพร้อมเรื่องอาชีพและเรื่องการรับมือภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในส่วนโลกร้อน เรามักจะถูกสอนว่าช่วยกันทำ ป้องกันโลกร้อนได้ ณ ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว โลกมันร้อนแล้ว ปัญหาเกิดแล้ว และที่สำคัญ เด็กในชุมชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง พอมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากนัก หลักสูตรเหมือนเดิม โรงเรียนเหมือนเดิม”
“เราเห็นว่าครูผู้นำฯ ยังอาจขาดความรู้และเครื่องมือเกี่ยวกับทั้ง 2 ประเด็น เราเลยตัดสินใจทำทั้งสองโครงการนี้ ให้การเรียนรู้ในห้องเรียนมีความข้องเกี่ยวกับชีวิตของนักเรียนและทำให้เด็กมีความเป็นผู้นำมากขึ้น เพราะเด็กจะไม่ได้เรียนรู้เฉยๆ ว่าโลกเปลี่ยนไปยังไง แต่เราจะพยายามให้เด็กได้ลงมือทำ ได้แก้ปัญหา ได้สร้างโครงการ และถอดบทเรียนได้ด้วยตนเอง”
“เขาจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลงตนเอง สังคม และเป็นผู้ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับสังคมต่อไป” มิวทิ้งท้าย
ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งพัฒนาเครื่องมือและแนวทางการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคม และผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และการศึกษาไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ที่นี่ เพื่อให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาค เพื่อให้เขากำหนดอนาคตของตนเองได้